คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7246/2554

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยยกคำขอของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องการริบของกลางย่อมยุติต้องคืนของกลางแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และ 225 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบของกลางจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกามีคำสั่งแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงติดต่อกัน จำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2,000 เม็ด น้ำหนัก184.51 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 44.282 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จำนวน 1,000 เม็ด น้ำหนัก 92.255 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 22.141 กรัมให้สายลับผู้ล่อซื้อในราคาเม็ดละ 120 บาท รวมเป็นเงิน 120,000 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวทั้งหมด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 120 ฉบับ ซึ่งจำเลยทั้งสามได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้สายลับ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 เครื่อง รถจักรยานยนต์ 3 คัน ซึ่งจำเลยทั้งสามใช้เป็นเครื่องมือและยานพาหนะในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและของกลางอื่น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต สำหรับจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ทางพิจารณาได้ความว่าให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ลงโทษเบากว่า จำคุก 40 ปี และปรับ 600,000 บาท จำเลยที่ 3 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 จำเลยที่ 1 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 20 ปี และปรับ 300,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้เกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ส่วนคำขอและข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กวข นครปฐม 979 ของกลาง คืนรถจักรยานยนต์ของกลางอีก 2 คัน แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2548 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3 โดยกล่าวหาว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานตำรวจยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 44.282 กรัม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 เครื่องและรถจักรยานยนต์ 3 คัน เป็นของกลาง สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทปรีดา และดาบตำรวจอำนาจ เบิกความทำนองเดียวกันว่า หลังจากพยานทั้งสองกับพวกล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,000 เม็ด จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้แล้ว จำเลยที่ 2 แจ้งว่ารับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 3 พันตำรวจโทปรีดาบอกแก่จำเลยที่ 2 ให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3 แล้วจะได้รับการลดโทษ จำเลยที่ 2 จึงยอมโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 3 โดยสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนอีก 1,000 เม็ด ซึ่งบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกรวม 5 ใบ และให้จำเลยที่ 3 มารับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน 80,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ค้างชำระ จำเลยที่ 3 ตกลงและนัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนในวันรุ่งขึ้นเวลา 5 นาฬิกา ที่บริเวณหน้าฟาร์มเลี้ยงสุกรชื่ออนันต์ฟาร์ม เมื่อใกล้ถึงเวลานัดพยานทั้งสองกับจำเลยที่ 2 นั่งรถยนต์ไปจอดอยู่ใกล้กับฟาร์มดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์มาจอดที่หน้าประตูทางเข้าฟาร์ม พยานทั้งสองกับพวกเข้าควบคุมจำเลยที่ 3 และตรวจค้นตัวพบถุงพลาสติกสีฟ้าบรรจุเมทแอมเฟตามีนรวม 5 ใบ จำนวน 1,000 เม็ด อยู่ในกระเป๋ากางเกงข้างขวาของจำเลยที่ 3 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวปรากฏว่าแต่ละเครื่องถูกใช้ติดต่อกับจำเลยที่ 2 ต่างเวลากัน เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องกันมีรายละเอียดสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธและมีข้อเท็จจริงตรงกับคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. 18 ถึง จ. 19 พันตำรวจโทปรีดา และดาบตำรวจอำนาจต่างเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 3 มาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความหรือทำหลักฐานปรักปรำจำเลยที่ 3 ส่วนที่จำเลยที่ 3 นำสืบปฏิเสธว่าจำเลยที่ 3 ไปพบกับจำเลยที่ 2 ที่หน้าฟาร์มเลี้ยงสุกรเพื่อเก็บเงินค่าบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่จากจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ขณะนั้นเป็นเวลา 5.30 นาฬิกา ยังอยู่ในยามวิกาล จำเลยที่ 3 เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ส่วนใหญ่จำเลยที่ 3 จะไปขายโทรศัพท์และเก็บเงินค่าโทรศัพท์ในเวลากลางวัน ดังนั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงมีข้อพิรุธไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับรถจักรยานยนต์ 3 คัน ของกลางนั้น โจทก์มีคำขอให้ริบซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยและยกคำขอของโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องการริบของกลางดังกล่าวย่อมยุติ ต้องคืนของกลางแก่เจ้าของตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กวข นครปฐม 978 ของกลางจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยคืนรถจักรยานยนต์ดังกล่าว รวมทั้งธนบัตรของกลางแก่เจ้าของเสียด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กวข นครปฐม 978 และธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share