แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุและได้รับการปล่อยตัว แม้จะไม่ถือว่าถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวน แต่ก็เป็นกรณีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิดและทราบถิ่นที่อยู่ของจำเลย อันชอบที่พนักงานสอบสวนหรือโจทก์ต้องแจ้งวันนัดสืบพยานก่อนฟ้องให้จำเลยทราบ ทั้งต้องตั้งทนายความให้จำเลยก่อนเริ่มสืบพยานก่อนฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งทนายความให้จำเลยและมิได้ซักถามพยานโจทก์ในลักษณะซักถามพยานแทนจำเลย จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ ไม่อาจรับฟังการสืบพยานปาก จ. ก่อนฟ้องคดีได้ คงรับฟังได้เพียงพยานบอกเล่า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 3, 61/2 (ที่ถูก 16/2), 28/2 ริบหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และพระราชบัญญัติสถานบริการฯ ส่วนความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 16/2, 28/2 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานนำอาวุธปืนเข้าไปในสถานบริการ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำอาวุธปืนเข้าไปในสถานบริการซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยในกระทงแรกและคำให้การรับสารภาพของจำเลยในกระทงที่สองและที่สามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 กระทงแรกหนึ่งในสาม คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน กระทงที่สองและที่สามกระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 35 ปี 4 เดือน ริบหัวกระสุนปืน 6 ลูก ของกลาง ข้อหาอื่นและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนอาวุธปืนของกลางทั้งสองกระบอกแก่เจ้าของที่แท้จริง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนเกิดเหตุผู้ตายไปติดพันนางสาวฐปนีย์หรือใหญ่ ซึ่งเป็นเพื่อนกับจำเลย และนางสาวฐปนีย์ได้แนะนำผู้ตายให้รู้จักกับจำเลย ต่อมาผู้ตายพูดดูหมิ่นนางสาวฐปนีย์จนทำให้นางสาวฐปนีย์เลิกคบหากับผู้ตาย ครั้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2548 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยไปร่วมรับประทานอาหารและดื่มสุรากับนางสาวฐปนีย์กับพวกที่เป็นหญิงรวมประมาณ 6 คน ที่โต๊ะหมายเลข 35 ภายในร้านอาหารตาวันคันทรี่ซึ่งเป็นสถานบริการ ตั้งอยู่ที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างนั้นผู้ตายกับนางสาวจุฑาพรหรือจูเดินทางมานั่งดื่มสุราอยู่บริเวณระเบียงด้านนอกร้านอาหาร ครั้นเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ร้านอาหารดังกล่าวเริ่มแสดงดนตรี ผู้ตายกับนางสาวจุฑาพรจึงย้ายเข้าไปนั่งดื่มสุราภายในร้านอาหาร ณ โต๊ะหมายเลข 33 ซึ่งอยู่ใกล้กับโต๊ะที่จำเลยนั่งอยู่ โดยมีนางสาวจุฑาทิพย์หรือเล็กเป็นบริกรดูแลลูกค้าที่นั่งในบริเวณดังกล่าว ผู้ตายดื่มสุราจนมีอาการมึนเมา และส่งเสียงเอะอะโวยวายบ่อยครั้ง พร้อมกับขว้างแก้วสุราลงพื้นจนแตกกระจาย นายสุทธิพร หุ้นส่วนร้านอาหารดังกล่าวเข้าห้ามปราม ผู้ตายจึงย้ายไปนั่งดื่มที่โต๊ะหน้าเวทีจนกระทั่งเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ของวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ผู้ตายชำระค่าเครื่องดื่มแล้วเดินตามหลังนางสาวจุฑาพรจะออกจากร้านอาหาร เมื่อเดินผ่านบริเวณโต๊ะอาหารที่จำเลยกับพวกนั่งอยู่ ได้เกิดเหตุจำเลยและผู้ตายใช้อาวุธปืนสั้นรีวอลเวอร์ ขนาด .38 ยิงซึ่งกันและกันจนทำให้ผู้ตายมีบาดแผลถูกกระสุนปืน 4 แห่ง บริเวณคอข้างซ้าย รักแร้ข้างซ้าย ชายโครงข้างขวา และช่องท้องข้างขวาต่ำกว่าชายโครง นอกจากนั้นยังมีบาดแผลฉีกขาดที่เกิดจากของแข็งไม่มีคมบริเวณริมฝีปากล่าง ใบหน้าข้างซ้าย คิ้วข้างซ้าย และหน้าผากข้างซ้าย จนกระดูกขากรรไกรและกระดูกกรามด้านบนแตกถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ส่วนจำเลยมีบาดแผลถูกกระสุนปืนที่แขนข้างขวา ได้รับอันตรายแก่กาย หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีและพันตำรวจตรีวัชรพงศ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเกาะสมุย ตรวจยึดได้อาวุธปืนสั้น ขนาด .38 หนึ่งกระบอกของผู้ตายซึ่งมีปลอกกระสุนปืนค้างอยู่ 2 ปลอก กับปลอกกระสุนปืนขนาด .38 อีก 3 ปลอก จากที่เกิดเหตุและหัวกระสุนปืน 4 เม็ด จากศพของผู้ตายเป็นของกลาง ต่อมาเวลาประมาณ 15 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุ จำเลยเข้ามอบตัวต่อพันตำรวจตรีวัชรพงศ์และให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน หลังจากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังกองบังคับการปราบปราม และนายประจักษ์ บิดาจำเลยนำอาวุธปืน ขนาด .38 ของนายประจักษ์ที่จำเลยใช้ยิงผู้ตายไปมอบให้พันตำรวจโทอธิป พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ยึดไว้เป็นของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า การสืบพยานบุคคลปากนางสาวจุฑาทิพย์ก่อนฟ้องคดีต่อศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคำร้องขอจากผู้เสียหายหรือจากพนักงานสอบสวน จะยื่นคำร้องโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด และผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการนำตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้นมาพิจารณาต่อไป และบทบัญญัติในวรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีตามวรรคสองถ้าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหานั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งหากมีการฟ้องคดีจะเป็นคดีซึ่งศาลจะต้องตั้งทนายความให้ หรือจำเลยมีสิทธิขอให้ศาลตั้งทนายความให้ตามมาตรา 173 ก่อนเริ่มสืบพยานดังกล่าว ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ในกรณีที่ศาลต้องตั้งทนายความให้ ถ้าศาลเห็นว่าตั้งทนายความให้ทันก็ให้ตั้งทนายความให้และดำเนินการสืบพยานนั้นทันที แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้งทนายความได้ทันหรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนายความได้ทัน ก็ให้ศาลซักถามพยานนั้นให้แทน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากทางพิจารณาว่า จำเลยเข้าพบมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุ และได้รับการปล่อยตัวโดยจำเลยอ้างว่าเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล แม้จะไม่ถือว่าถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนแต่ก็เป็นกรณีรู้ตัวผู้กระทำความผิด และทราบถิ่นที่อยู่ของจำเลยอันชอบที่พนักงานสอบสวนหรือโจทก์ต้องแจ้งวันนัดสืบพยานดังกล่าวให้จำเลยทราบ ทั้งต้องตั้งทนายความให้จำเลยก่อนเริ่มสืบพยานดังกล่าว การที่โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ไว้ก่อนโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติข้างต้นประกอบกับศาลชั้นต้นก็มิได้ซักถามพยานดังกล่าวในลักษณะซักถามพยานแทนจำเลย กรณีจึงนับเป็นการสืบพยานที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ ไม่อาจรับฟังพยานดังกล่าวในการพิจารณา คงรับฟังได้เพียงเป็นพยานบอกเล่า หาได้ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ทำให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังข้อต่อสู้ของจำเลย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังได้บางส่วน
พิพากษายืน