แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติการประมง มาตรา 32 (2) นั้น จะต้องกำหนดลักษณะของเครื่องมือที่ห้ามใช้เป็นอย่าง ๆ ไว้ให้รู้ หากนำเครื่องมือนั้นมาใช้ทำการประมง ก็ต้องริบตามมาตรา 70
เมื่อได้กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้ในฤดูปลามีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก ตามพระราชบัญญัติการประมงมาตรา 32 (5) แล้ว เครื่องมือทำการประมงอย่างอื่นก็เป็นเครื่องมือที่ต้องห้าม แต่มิใช่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด ตามมาตรา 32 (2) เพราะเพียงแต่ห้ามในฤดูปลามีไข่เท่านั้นการจะริบเครื่องมือหรือไม่จึงอยู่ในดุลพินิจของศาลตามมาตรา 69.
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2506).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๒(๒) (๔) (๕) (๖) แห่งพระราชบัญญติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ กำหนดฤดูปลาน้ำจืดมีไข่และกำหนดชนิดและวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงเพื่อสงวนพันธุ์ปลาน้ำจืด ห้ามมิให้ผู้ใดใช้โพงพางเป็นเครื่องมือทำการประมงในน่านน้ำจืดในท้องที่ทุกจังหวัดโดยเด็ดขาด ตั้งแต่ ๑๖ พฤษภาคม ถึง ๑๕ กันยายน ของทุกปี ตามสำเนาประกาศท้ายฟ้อง เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๐๓ จำเลยบังอาจใช้ถุงโพงพางทำการประมงจังสัตว์น้ำในลำน้ำท่าจีน อันเป็นน่านน้ำจืดฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมถุงโพงพาง ๒ ถุง ไม้กระจิ้ว ๔ อัน เรือ ๑ ลำ ซึ่งเป็นเครื่องมือใช้ทำการประมง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญาติการประมงพ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา๓๒,๖๕,๖๙,๗๐ พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๐ ริบของกลางด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลขั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓๒,๖๕ ปรับ ๑๐๐ บาท ของกลางริบ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พระราชบัญญัติการประมง พ.ศง ๒๔๙๐ มาตรา ๓๒(๒) ให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด โพงพางของจำเลยจึงมิใช่เครื่องมือที่ห้ามเด็ดขาด การจะริบหรือไม่จึงต้องใช้มาตรา ๖๙ เห็นว่าของกลางยังไม่ควรริบ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๐๕/๒๔๙๔ พิพากษาแก้ ไม่ริบของกลาง
โจทก์ฎีกาขอให้ริบของกลาง
ศาลฎีกาประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า ประกาศกระทรวงเกษตรเรื่องกำหนดฤดูปลามีไข่และกำหนดชนิดและวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงท้ายฟ้องนั้น ได้ประกาศโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓๒(๕) ซึ่งบัญญัติว่า “กำหนดฤดูปลามีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้และกำหนดวิธีทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ในฤดูดังกล่าว” ดังนั้น เมื่อได้กำหนดเครื่องมือทำการประมงที่ให้ใช้ไว้ในประกาศแล้ว เครื่องมือทำการประมงอย่างอื่นเป็นเครื่องมือที่ต้องห้ามตามประกาศฉบับนี้ แต่มิใช่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด ตามมาตรา ๓๒(๒) และมาตรา ๗๐ เพราะเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ตามประกาศท้ายฟ้อง เพียงแต่ห้ามในฤดูปลามีไข่ ระหว่างวันที่กำหนดไว้เท่านั้น เมื่อพ้นฤดูปลามีไข่แล้วก็มิได้ห้ามใช้ จึงไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด แม้ประกาศท้ายฟ้องจะใช้ถ้อยคำว่า “โดยเด็ดขาด” ไว้ด้วย ก็หาทำให้กลายเป็นเครื่องมือตามมาตรา ๓๒(๒) ไม่ เพราะเครื่องมือตามมาตรา ๓๒(๒) นี้ จะต้องกำหนดลักษณะของเครื่องมือห้ามใช้ทำการประมง จึงต้อริบตามมาตรา ๗๐ ส่วนเครื่องมือที่ใช้โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติอื่น ๆ
นั้น อยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๖๙ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจริบหรือไม่ริบก็ได้ เว้นแต่กรณีกระทำผิดในที่รักษาพืชพันธุ์เท่านั้นจึงต้องริบ เครื่องมือทำากรประมงที่จำเลยใช้ ไม่ใช่เครื่องมือที่ห้ามใช้เด็ดขาด จึงอยู่ในดุลพินิจของศาล หาใช่เป็นเครื่องมือที่บังคับให้ริบตามมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ ดังโจทก์ฎีกาไม่ เมื่ออยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งริบหรือไม่ โจทก์ฎีกาของให้ริบไม่ได้ เพราะคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์.