คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องคดีอาญานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 157 บัญญัติให้ยื่นต่อศาลใดศาลหนึ่งที่มีอำนาจตามกฎหมายเมื่อคดีปรากฎว่าอยู่ในอำนาจศาลทหารตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 16 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 16 พ.ศ.2504 แล้ว ศาลพลเรือนก็ไม่มีอำนาจรับประทับฟ้องและดำเนินคดีนั้น
ข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 15 วรรค 2 นั้น ต้องปรากฎตามทางพิจารณาในภายหลังไม่ใช่ปรากฎว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารตั้งแต่ประทับฟ้องแล้ว

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำร้ายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗
จำเลยให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ได้ ๑ ปากแล้ว
ศาลจังหวัดชลบุรีวินิจฉัยว่า คดีความผิดตามฟ้องต้องฟ้องยังศาลทหาร แต่ศาลพลเรือนรับประทับฟ้องไว้ คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๕ และพิพากษาลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลจังหวัดชลบุรี ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ปรากฎตั้งแต่สั่งรับประทับฟ้องว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ไม่ชอบที่ศาลพลเรือนจะรับไว้พิจารณา พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ปรากฎตั้งแต่แรกสั่งประทับฟ้องแล้วว่า เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร การฟ้องคดีก็ต้องยื่นต่อศาลที่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๗ เมื่อคดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลพลเรือนก็ไม่มีอำนาจรับประทับฟ้องและดำเนินคดี ส่วนข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๕ วรรค ๒ นั้นต้องปรากฎตามทางพิจารณาในภายหลัง ไม่ใช่ปรากฎว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารตั้งแต่ประทับฟ้อง หากให้อำนาจศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาคดีได้โดยเพียงสั่งประทับฟ้องเท่านั้น ก็หาจำต้องบัญญัติยกเว้นไว้ดังข้อความในวรรค ๒ ไม่ พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share