คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขายรถยนต์เฟี้ยตให้จำเลยราคา 55,000 บาท โดยให้จำเลยชำระราคาด้วยเงินสด 20,000 บาท กับรถยนต์ออสตินของจำเลยตีราคา 35,000 บาท โจทก์จำเลยส่งมอบรถยนต์และเงินสดให้แก่กันแล้ว และตกลงจะไปโอนทะเบียนรถยนต์ให้กันเมื่อโจทก์ผ่อนชำระราคาครบ และรับโอนทะเบียนมาจากกรมสวัสดิการฯ แล้ว ดังนี้ แสดงว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้กันจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขแล้ว
ระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ รถยนต์เฟี้ยตซึ่งอยู่ในครอบครองของจำเลยถูกเพลิงไหม้ใช้การไม่ได้ โดยไม่ใช่ความผิดของฝ่ายใด เป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เฟี้ยตให้จำเลยได้ ดังนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ออสตินให้โจทก์ได้ เพราะเป็นสัญญาต่างตอบแทนกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372 วรรคแรก เมื่อกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนมายังโจทก์ ก็ไม่เรียกว่าเป็นสัญญามีวัตถุประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์นั้นตามมาตรา 370 และมาตรา 371 ก็บัญญัติว่า สัญญาต่างตอบแทน ถ้ามีเงื่อนไขบังคับก่อนและทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ จะนำมาตรา 370 มาใช้บังคับไม่ได้อีกด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ออสตินให้โจทก์โดยการแลกเปลี่ยนกัน จำเลยส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์แล้ว แต่ไม่ยอมโอนทะเบียนให้ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า โจทก์ขายรถยนต์เฟี้ยตให้จำเลยราคา ๕๕,๐๐๐ บาทโดยยอมรับเงินสด ๒๐,๐๐๐ บาท กับรถยนต์ออสตินของจำเลยแทนเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท และตกลงว่าต่างฝ่ายต้องโอนทะเบียนให้แก่กัน แต่โจทก์ซื้อรถยนต์เฟี้ยตมาจากกรมสวัสดิการทหารบกโดยมีเงื่อนไขห้ามโอนภายใน ๒ ปี ขณะโจทก์ขายยังไม่พ้นกำหนดห้ามโอน ต่อมารถยนต์เฟี้ยตถูกเพลิงไหม้โดยอุบัติเหตุ เป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์จะโอนทะเบียนให้จำเลยได้ โจทก์จึงต้องคืนเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท และรถยนต์ออสตินแก่จำเลย หากโจทก์ยังต้องการรถยนต์ออสติน ก็ชอบที่จะมอบเงินที่กรมสวัสดิการได้คืนเงินที่โจทก์ผ่อนชำระราคารถยนต์เฟี้ยตไปแล้ว ๒๐,๐๐๐ บาทให้จำเลย
วันนัดชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์ขายรถยนต์เฟี้ยตให้จำเลยราคา ๕๕,๐๐๐ บาท โดยให้จำเลยชำระราคาด้วยเงินสด ๒๐,๐๐๐ บาท กับรถยนต์ออสตินของจำเลยซึ่งตีราคา ๓๕,๐๐๐ บาท โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่ขายให้จำเลยและจำเลยชำระเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท กับส่งมอบรถยนต์ออสตินให้โจทก์แล้ว โดยตกลงกันว่าแต่ละฝ่ายจะไปโอนทะเบียนรถยนต์พร้อมกันภายหลัง ระหว่างที่รถยนต์เฟี้ยตอยู่ในครอบครองของจเลยได้ถูกเพลิงไหม้ใช้การไม่ได้ โดยไม่ใช่ความผิดของฝ่ายใดเป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์จะโอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลย รถยนต์คันนี้เอาประกันไว้ บริษัทจ่ายเงินให้แล้ว จำเลยเคยเรียกเงินนี้จากโจทก์ตามสำนวนคดีแพ่งแดง ๑๙๙๐/๒๕๐๐ ศาลยกฟ้องอ้างว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์เฟี้ยตยังไม่โอนมาเป็นของจำเลย โจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแพ่งเห็นว่า ความตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขายและตามคำพิพากษาคดีแดงที่ ๑๙๙๐/๒๕๐๐ ก็ชี้ขาดว่ากรรมสิทธิ์รถยนต์เฟี้ยตยังไม่โอนเป็นของจำเลย เมื่อรถยนต์คันนี้ถูกไฟไหม้ โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยไม่ได้แล้ว จำเลยก็ไม่ต้องโอนทะเบียนรถยนต์ออสตินให้โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะที่โจทก์จำเลยตกลงส่งมอบรถยนต์ให้แก่กันนั้น ทั้งสองฝ่ายรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ยังโอนทะเบียนรถยนต์เฟี้ยตให้จำเลยไม่ได้ เพราะโจทก์ยังผ่อนชำระเงินค่ารถยนต์ให้แก่กรมสวัสดิการทหารบกไม่หมด กรมสวัสดิการฯ มีระเบียบว่าโจทก์จะต้องชำระราคารถให้หมดเสียก่อนและต้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒ ปี กรมสวัสดิการฯ จึงจะโอนรถยนต์ให้โจทก์ โจทก์จำเลยจึงสัญญากันว่า ต่างจะโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่กันพร้อมกันเมื่อโจทก์ได้รับโอนทะเบียนรถยนต์มาจากกรมสวัสดิการฯ แล้ว ซึ่งแสดงว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่กันและในขณะที่ตกลงกันจนกว่าจการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข ฉะนั้น รถยนต์ออสตินจึงยังไม่เป็นกรรมสิทธฺ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๙ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อเป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์จะโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลยแล้ว ฝ่ายโจทก์ก็หลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๙ ส่วนจำเลยคงมีหน้าที่ต้องโอนทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์นั้น เห็นว่ามาตรา ๒๑๙ เป็นบททั่วไป หมายความว่าถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยโดยไม่ใช่ความผิดของลูกหนี้ ๆ ก็หลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นโดยไม่ถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญาอันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายใด ๆ แต่ในสัญญาต่างตอบแทน ลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ ตามมาตรา ๓๗๒ วรรคแรก เรื่องนี้โจทก์ไม่ต้องโอนทะเบียนรถยนต์เฟี้ยตให้แก่จำเลย แต่โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยโอนทะเบียนรถยนต์ออสตินให้แก่โจทก์
ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้ต้องปรับด้วยมาตรา ๓๗๐ นั้น ศาลฎีกาได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยยังมีเงื่อนไขบังคับอยู่ กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนมายังโจทก์ เพราะฉะนั้น จึงไม่เรียกว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิ์ในทรัพย์นั้นตามมาตรา ๓๗๐ อนึ่ง มาตรา ๓๗๑ ก็บัญญัติว่า สัญญาต่างตอบแทนถ้ามีเงื่อนไขบังคับก่อน และทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ จะนำมาตรา ๓๗๐ มาใช้บังคับไม่ได้ ฎีกาของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้นด้วย
ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ต้องบังคับตามมาตรา ๓๗๒ วรรคแรก โจทก์ไม่มีสิทธิจะบังคับให้จำเลยโอนทะเบียนรถยนต์ออสตินให้แก่โจทก์ และไม่จำต้องวินิจฉัยถึงเรื่องค่าเสียหายต่อไป
พิพากษายืน

Share