คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องแย้ง แม้เป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแย้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยในส่วนข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเสียเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของจำเลยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีตาม มาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน และที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว จำเลยเคยนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ ส. โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว ให้ที่ดินหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนอง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการไถ่ถอนจำนอง จึงถือว่าจำเลยเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่ ส. แล้ว นับแต่วันพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนอง ส. ย่อมมีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปขายให้โจทก์ได้ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ของจำเลยอีกต่อไป จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและปลูกไม้ยืนต้นที่ตัดในระหว่างรังวัดสอบเขตที่ดินบนที่ดินของโจทก์ จำนวน 20 ต้น กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 2,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 400 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะปลูกต้นไม้ทดแทน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์และบริวารมิให้กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ในบริเวณเส้นกรอบสีเขียวตามแผนที่พิพาทเฉพาะส่วนที่โจทก์ทำประโยชน์ เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 6 ตารางวา และจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา ในที่ดินพิพาทบริเวณเส้นกรอบสีเขียวตามแผนที่พิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และห้ามโจทก์และบริวารเข้าไปในที่ดินของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ในเส้นกรอบสีเขียวตามแผนที่พิพาทเนื้อที่ 8 ไร่ 16 ตารางวา ห้ามโจทก์และบริวารเข้าไปในที่ดินของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ก่อนว่า ที่ดินพิพาทในเส้นกรอบสีเขียวตามแผนที่พิพาท เห็นว่า นายเสวกได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนที่จะไปรังวัดสอบเขตได้ตรวจสอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) กับระวางรูปถ่ายทางอากาศ ปรากฏว่าตรงกับในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศหมายเลข 5744 III แผ่นที่ 98 เลขที่ดิน 71 แผ่นใหญ่ที่ระบายด้วยหมึกสีเหลือง และจากการตรวจสอบสารบบที่ดิน น.ส. 3 ก. ปรากฏว่าทิศใต้ของที่ดินจำเลยติดกับที่ดินของนางอารมย์ เมื่อดูประกอบกับระวางรูปถ่ายทางอากาศแล้วจะเป็นเลขที่ดิน 7 ส่วนทางทิศตะวันตกจะเป็นที่ว่าง จึงไม่ได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้มาระวังแนวเขต ในวันรังวัดจำเลยนำชี้ที่ดินตรงตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และตรงตามระวางรูปถ่ายทางอากาศแผ่นใหญ่ เลขที่ดิน 71 ที่ระบายด้วยหมึกสีเหลือง ในการทำแผนที่พิพาทตามคำสั่งศาล จำเลยนำชี้ที่ดินของจำเลยตามเส้นกรอบสีเขียว จากนั้นโจทก์นำชี้ที่ดินของโจทก์ตามเส้นกรอบสีแดงตามแผนที่พิพาท และเบิกความต่อมาว่า เส้นกรอบสีแดงในแผนที่พิพาท ไม่ตรงกับรูปแผนที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และมีเนื้อที่ไม่ตรงกัน โดยในเส้นกรอบสีแดงตามแผนที่พิพาท ปรากฏมีเนื้อที่ 66 ไร่ 90 ตารางวา ส่วนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ปรากฏมีเนื้อที่ 48 ไร่ 63 ตารางวา แต่เส้นกรอบสีเขียวในแผนที่พิพาท ตรงกับรูปที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และเมื่อพยานดูระวางรูปถ่ายทางอากาศตามแผ่นใหญ่ของโจทก์ซึ่งระบายสีชมพูกับของจำเลยซึ่งระบายสีเหลืองแล้ว ปรากฏมีเลขที่ดินคนละเลขที่และมีระวางคนละระวางกันซึ่งโดยหลักแล้วจะไม่ทับซ้อนกันเว้นแต่เจ้าหน้าที่จะขึ้นรูปที่ดินผิดพลาด นอกจากนี้นายเสวกยังเบิกความตอบศาลถามว่ารูปที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และรูปที่ดินในระวางรูปถ่ายทางอากาศที่ระบายด้วยหมึกสีเหลืองของจำเลยตาม อยู่ในแนวเขตที่ดินพิพาทในเส้นกรอบสีเขียวตามแผนที่พิพาท ส่วนรูปที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และรูปที่ดินในระวางรูปถ่ายทางอากาศที่ระบายสีชมพูของโจทก์อยู่ในแนวเขตที่ดินพิพาทในเส้นกรอบสีแดงตามแผนที่พิพาทบางส่วน จึงมีเหตุผลแสดงได้ว่าที่ดินพิพาทไม่ได้รวมอยู่ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของโจทก์ นายเสวก เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติการไปตามหน้าที่ไม่มีส่วนได้เสียในคดีกับฝ่ายใด นับเป็นพยานคนกลาง น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามหลักวิชาและตามความเป็นจริง พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทในเส้นกรอบสีเขียวตามแผนที่พิพาท ไม่อยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของโจทก์ แต่อยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของจำเลย เมื่อโจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยดำเนินการรังวัดสอบเขตทั้งหมดเป็นที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของโจทก์ มิได้ฟ้องโดยอาศัยการเข้าครอบครองที่ดินของผู้อื่นหรือของจำเลยเกินกว่าหนึ่งปี อันจะทำให้โจทก์ได้ซึ่งสิทธิครอบครอง ฟ้องโจทก์จึงไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง ดังนั้นที่โจทก์ฎีกาต่อมาทำนองว่า จำเลยเบิกความเจือสมคำพยานโจทก์ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) นั้น หลังจากที่นายบุญมี สามีจำเลยเสียชีวิตมาประมาณ 25 ปี จำเลยได้ขายให้จ่าทอน และเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงว่า ที่ดินที่ขายให้จ่าทอนทราบว่าจ่าทอนได้ขายให้นางสมศรี ซึ่งที่ดินดังกล่าวนางสมศรีได้ขายให้โจทก์ในเวลาต่อมา และโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา อันแสดงให้เห็นว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่จำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองนั้นได้ขายให้แก่บุคคลอื่นไปแล้วและได้ตกมาอยู่ที่โจทก์เป็นคนสุดท้าย เมื่อโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาโดยตลอดรวมทั้งให้บุคคลอื่นเช่าทำนา โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียวนั้น จึงเป็นการฎีกาข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากคำฟ้อง อันเป็นฎีกาที่นอกฟ้องนอกประเด็น แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ให้โดยให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินบางส่วนก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทในเส้นกรอบสีเขียวตามแผนที่พิพาท ไม่อยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องแย้งของจำเลยที่โจทก์ฎีกาเป็นประการแรกว่า จำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งหรือไม่นั้น แม้เป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแย้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยในส่วนข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเสียเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า นายบัน พยานโจทก์เบิกความว่า ได้ไปเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เพื่อทำนาประมาณ 2 ถึง 3 ไร่ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ทราบว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองทำนาในเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ และที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินของนายศร ต่อมาได้ขายให้นายบุญมี สามีจำเลย และนายบุญมีได้ขายต่อให้จ่าทอน หลังจากนั้นจ่าทอนได้ขายให้นางสมศรี และนางสมศรีได้ขายให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา เหตุที่พยานทราบความเป็นมาของที่ดินเนื่องจากพยานมีที่ดินติดกับที่ดินดังกล่าว เมื่อมีการขาย พยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตทุกครั้ง ซึ่งคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ทราบว่าที่ดินแปลงพิพาทนายบุญมีซื้อมาจากนายศร นายบุญมีเสียชีวิตเมื่อปี 2517 หลังจากนายบุญมีเสียชีวิตมาประมาณ 25 ปี จึงได้ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) นี้ให้แก่จ่าทอน ส่วนเรื่องเอกสารจำเลยจำไม่ได้ และเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงต่อมาว่า ที่ดินแปลงที่ขายให้จ่าทอนทราบว่าจ่าทอนขายให้นางสมศรี นอกจากนี้จำเลยยังเบิกความยอมรับว่าเคยนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่นางสมศรี ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน โดยมีข้อตกลงในข้อ 4 ว่า เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี ให้ทรัพย์สินนี้หลุดเป็นสิทธิจำนองแก่ผู้รับจำนอง อันสอดคล้องตรงกับสารบัญจดทะเบียนด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของจำเลยที่มีตรายางประทับข้อความว่า ห้ามโอนภายในสิบปีตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2517 ที่ดินแปลงนี้จึงต้องห้ามมิให้โอนทางทะเบียนกันจนกว่าจะพ้นจากวันที่ 3 สิงหาคม 2527 ไปแล้ว ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏมีการไถ่ถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จึงถือว่าจำเลยเจตนาสละการครอบครอง และส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่นางสมศรีแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2528 อันเป็นวันพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนอง ภายหลังจากนั้นนางสมศรีอาจนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่บุคคลอื่นหรือโจทก์ก็ย่อมกระทำได้ ที่ดินพิพาทจึงมิได้เป็นของจำเลยอีกต่อไป จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง และห้ามโจทก์และบริวารกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทเพราะที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจำเลยแล้ว ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องเดิมและฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share