คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238-7239/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายซึ่งโจทก์ทำงานอยู่และมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายทั้งให้ลดเงิน เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวได้ตามลำพังเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง หรือโจทก์ละทิ้งหน้าที่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 ครั้งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 42,500 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ครั้งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 42,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการไปเป็นพนักงานขายและขอลดเงินเดือนคนละเดือนละ 7,000 บาท โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมและทำหนังสือโต้แย้งขอให้จำเลยชี้แจงคำสั่งแต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2542 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง และวันรุ่งขึ้นจำเลยมีคำสั่งห้ามโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานพร้อมกับเก็บบัตรบันทึกเวลาไปด้วย อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองในวันดังกล่าวโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวนคนละ 127,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 52,392 บาท โจทก์ทั้งสองมีสิทธิหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน แต่จำเลยสั่งให้โจทก์ที่ 1 ทำงานในวันหยุดดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 รวม 24 วันคิดเป็นค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี 32,070 บาท และโจทก์ที่ 2 ทำงานในวันหยุดดังกล่าว ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2541 รวม 19 วัน คิดเป็นค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี 26,240 บาทโจทก์ทั้งสองทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ เพราะโจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีการศึกษามีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อลงมือทำงานแล้วจึงพบว่าโจทก์ทั้งสองไม่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวและจำเลยต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและการบังคับบัญชาเสียใหม่จึงยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย และผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ทั้งสองไปทำหน้าที่ขายและส่งเสริมการขาย คงมีโจทก์ทั้งสองที่ไม่พอใจ ที่อ้างว่าถูกลดเงินเดือนลงคนละ 7,000 บาทนั้น โจทก์ทั้งสองก็จะได้รับชดเชยเป็นค่าตอบแทนการขายตามผลงานไม่ต่ำกว่า 7,000บาทต่อเดือน จำเลยพยายามหาตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิมให้โจทก์ทั้งสอง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือให้ข้อมูลทางการศึกษาและประวัติการทำงานจึงไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้ได้นอกจากหน้าที่การขายที่โจทก์เคยทำอยู่ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมทำหน้าที่ดังกล่าวตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งที่จำเลยชี้แจงและตักเตือนแล้ว โจทก์ทั้งสองจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและจ่ายเงินเดือนให้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและจ่ายเงินเดือนให้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 โจทก์ทั้งสองจึงรับเงินค่าจ้างเกินไปคนละ 7 วัน เป็นเงินคนละ 9,912 บาท หากจำเลยต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์ก็ต้องหักเงินดังกล่าวออกก่อน โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีเพราะจำเลยให้ลูกจ้างสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันหยุด การที่โจทก์ทั้งสองทำงานในวันหยุดตามประเพณีบางวันก็เพื่อทดแทนวันที่โจทก์ทั้งสองหยุดงานไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสองคนละ 127,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 42,480บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยประกอบกิจการขายเครื่องประดับเพชรพลอยให้แก่ชาวต่างประเทศ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ตามลำดับครั้งสุดท้ายโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายมีอำนาจบังคับบัญชาและให้คำแนะนำแก่พนักงานขายซึ่งมีจำนวนประมาณ 150คน และได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละเดือนละ 42,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2542 เป็นต้นไปและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำหน้าที่ในการขายและช่วยเหลือการขายของพนักงาน และในวันที่ 17 กรกฎาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งโอนย้ายโจทก์ทั้งสองไปเป็นพนักงานขายและลดเงินเดือนลงคนละ7,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 24กรกฎาคม 2542 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและละทิ้งหน้าที่การงานตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 25 กรกฎาคม2542 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่หรือโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ซึ่งโจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งดังกล่าวและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายทั้งให้ลดเงินเดือนละ 7,000 บาท นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่โจทก์ทั้งสอง กล่าวคือเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ทั้งสองจากตำแหน่งที่มีอำนาจบังคับบัญชาให้คำแนะนำแก่พนักงานขายคนอื่นมาเป็นเพียงพนักงานขายทั่ว ๆ ไปอีกทั้งลดเงินเดือนซึ่งเป็นรายได้ประจำที่มีจำนวนแน่นอนลงอีกด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวได้ตามลำพังเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง คำสั่งของจำเลยที่ให้ยกเลิกตำแหน่งของโจทก์ทั้งสองและให้ไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ทั้งสอง ฉะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง หรือโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share