คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

น. ทำสัญญาจะขายที่ดินให้ ย. ชำระราคาบางส่วนเกือบครบแล้ว น. กลับไปจดทะเบียนขายที่ดินนั้นให้ อ. เสีย โดย ธ.บิดาอ.เป็นผู้รับมอบฉันทะจากน.แต่ธ. รู้ดีว่า น. ได้ทำสัญญาจะขาย ย.แล้วและอ.นั้นก็แล้วแต่ธ.บิดาจะเชิดไป ธ.และอ. ไม่สุจริต รูปคดีเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ไม่มีทางบังคับชำระหนี้ได้น. ได้กระทำทั้งที่รู้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ย. เพิกถอนนิติกรรมระหว่างน. กับ อ. ได้ตาม มาตรา 237

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดที่ 3372 ตำบลกัลยาณ์ อำเภอธนบุรีจังหวัดธนบุรี เนื้อที่ 92 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 1253 จ. เดิมเป็นของนางนวม มนตรีวัตร์ ประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2496 นางนวม มนตรีวัตร์ ตกลงขายที่ดินนี้ 34 ตารางวากับบ้านเลขที่ 1253 จ.ให้แก่นางเล็ก ฉิมรวย เป็นเงิน 12,000 บาท

ต่อมาเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2479 นางนวม มนตรีวัตร์ ขายฝากที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างรายนี้ไว้กับนางลูกอินทร์ ไชยกุล เป็นเงิน 52,000 บาท จึงได้ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกโฉนดเพื่อขายให้นางเล็กฉิมรวย ตามที่ตกลงกันไว้ ทั้งนี้นางลูกอินทร์ ไชยกุล ยินยอมด้วยครั้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 นางนวม มนตรีวัตร์ ถึงแก่กรรมลง ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายนี้ตกได้แก่จำเลยที่ 1 ตามพินัยกรรม การไถ่ถอนการขายฝากจากนางลูกอินทร์ ไชยกุล ตกเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1

ก่อนนางนวม มนตรีวัตร์ ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้ยืมเงินไปจากโจทก์เพื่อเลี้ยงดูนางนวม มนตรีวัตร์ หลายครั้งรวมเป็นเงิน3,500 บาท และเมื่อนางนวม มนตรีวัตร์ ถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์เพื่อทำบุญและทำศพอีกรวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 10,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ตกลงขายกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่เหลือจากแบ่งขายให้นางเล็กพร้อมทั้งบ้านเลขที่ 1253 ง. ให้แก่โจทก์ในราคา 70,000 บาท ถึงตอนนี้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากโจทก์ไปแล้วรวม 13,500 บาท

ครั้นวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ใกล้วันครบกำหนดไถ่ถอนการขายฝาก จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินจะทำการไถ่ถอนจึงมาขอรับเงินมัดจำเพิ่มเติมจากโจทก์อีก 52,000 บาท และได้ไถ่ถอนการฝากเสร็จแล้วในเดือนพฤษภาคมนั้น แต่ยังมิได้จดทะเบียนการไถ่อน เพราะชื่อในโฉนดยังเป็นชื่อนางนวม มนตรีวัตร์ อยู่ จำเลยที่ 1 จะต้องจดทะเบียนขอรับมรดกตามพินัยกรรมเสียก่อน จำเลยที่ 1 ได้ขอรับมรดกต่อสำนักงานทะเบียนที่ดินจังหวัดธนบุรี ๆ ออกประกาศมีกำหนด 60 วันหลังจากลงชื่อเป็นผู้รับมรดกและจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากแล้วจะได้จัดการโอนสิ่งซื้อขายให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งสามย่อมทราบอยู่ดีแล้ว

วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 อันเป็นวันครบกำหนดตามประกาศของเจ้าพนักงาน โจทก์ จำเลยที่ 1, 2 และนางลูกอินทร์ไปยังสำนักงานทะเบียนที่ดินจังหวัดธนบุรี เจ้าพนักงานได้จัดการจดทะเบียนลงชื่อจำเลยที่ 1 รับมรดกและไถ่ถอนการขายฝากจากนางลูกอินทร์เสร็จแต่ที่จะโอนขายให้โจทก์ทำไม่ทัน รุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่ายังโอนไม่ได้ แล้วจำเลยทั้งสามสมคบกันโดยจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จัดการทำสัญญาจดทะเบียนโฉนดขายที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 3ผู้เป็นบุตรสาวจำเลยที่ 2 ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่โอนขายให้โจทก์ เป็นการฉ้อฉลให้โจทก์เสียเปรียบ เสียหาย โจทก์กระทำการโดยสุจริตเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนได้อยู่ก่อน ขอศาลสั่งเพิกถอนทำลายนิติกรรมซื้อขายและการจดทะเบียนโฉนดที่ 3337เนื้อที่ประมาณ 58 ตารางวา พร้อมทั้งบ้านเลขที่ 1253 ง. ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ให้กลับคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้วบังคับให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายให้โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปทำโอนขาย ให้ถือคำพิพากษาแสดงเจตนาให้จำเลยรับเงินที่โจทก์ค้างชำระอยู่อีก 4,500 บาท ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะโอนก็ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 65,500 บาท คืนให้โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าฟ้องโจทก์ข้อ 1, 2, 3 และ 4 เป็นความจริงแถลงว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนขายทรัพย์รายพิพาทให้โจทก์ได้ เพราะจำเลยที่ 2, 3 สมคบกันล่อลวงฉ้อโกงเอาไปทำการโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 เสียแล้ว เรื่องมีว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปจัดการรับมรดกแทน โดยเซ็นชื่อให้ไปโดยมิได้กรอกข้อความแล้วจำเลยที่ 2 กรอกข้อความขอรับมรดกกับทำการโอนขายทรัพย์มรดกนั้นให้แก่จำเลยที่ 3 และไม่เคยได้รับเงินค่าที่ดินรายนี้จากจำเลยที่ 3 ด้วยเมื่อความปรากฏเช่นนี้ จำเลยที่ 1 ได้กล่าวหาต่อสถานีตำรวจสำราญราษฎร์ให้จัดการกับจำเลยที่ 2, 3 แล้ว

จำเลยที่ 2, 3 ให้การรับว่าที่ดินรายพิพาทกับบ้านเลขที่ 1253 ง. เดิมเป็นของนางนวม มนตรีวัตร์ จริง แต่บ้านเลขที่1253 จ. เป็นของนางเติม ๆ เช่าที่ของนางนวม มนตรีวัตร์ปลูก นางเติมขายบ้านหลังนี้ให้แก่นางเล็ก ฉิมรวย ไปตั้งแต่พ.ศ. 2496 นางเล็ก ฉิมรวย มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายพิพาทดังโจทก์ฟ้องแต่อย่างใด

นางนวม มนตรีวัตร์ ถึงแก่กรรมลง ที่ดินกับบ้านเลขที่ 1253 ง.ตกได้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 60,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้รับเงินมัดจำไปจากจำเลยที่ 3 หลายคราว และจำเลยที่ 3 ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้รับไปครบถ้วนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2498 แล้ว แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาจำเลยที่ 3 ไปจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 3 เอง

จำเลยที่ 3 ได้รับซื้อที่ดินและบ้านรายพิพาทมาโดยสุจริตและค่าตอบแทน มิได้ฉ้อฉลโจทก์และมิได้ทราบถึงการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มาก่อนแต่อย่างใด จนเมื่อได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เสร็จแล้วโจทก์จึงได้มาสอบถาม แล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 กลับร่วมกันเพทุบายให้จำเลยที่ 1 ไปร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาว่ายักยอกลายมือชื่อ ซึ่งจำเลยที่ 1 เซ็นไว้เฉย ๆ ไปกรอกข้อความว่าได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปโอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ทั้งนี้ด้วยความประสงค์จะให้นิติกรรมโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 เสีย เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และจำเลยที่ 1 สมยอมให้โจทก์มาฟ้องคดีนี้ขึ้น กับจำเลยตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ เพราะสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อยู่ในฐานะจดทะเบียนได้ก่อนจำเลยที่ 3 ขอให้ศาลยกฟ้อง

ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า บ้านเดิมของโจทก์ถูกรื้อจึงมาอยู่กับนางนวม มนตรีวัตร์ ที่บ้านเลขที่ 1253 ง. นางนวมเอาที่แปลงพิพาทนี้ไปขายฝากไว้กับนางลูกอินทร์เป็นเงิน 52,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยืมเงินโจทก์ไปหลายครั้งเพื่อเลี้ยงดูนางนวมและต่อมาจัดการศพนางนวม ตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2 จ.4 และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาจะขายที่พิพาทเป็นเงิน 70,000 บาทต่อมาเดือนพฤษภาคม 2498 จำเลยที่ 1 มาขอร้องโจทก์ให้เอาเงินไปไถ่การขายฝากจากนางลูกอินทร์โจทก์ให้คนไปตามนายวิเชียร ทนายความมาทำสัญญาจะซื้อขายให้อีกฉบับหนึ่ง คือเอกสารหมาย จ.5 เมื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และพยานลงชื่อในสัญญาแล้ว โจทก์ก็มอบเงิน 52,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไปรุ่งขึ้นวันที่ 11 พฤษภาคม 2498 ก็มีการไถ่ถอนการขายฝากที่หอทะเบียนและประกาศรับมรดกเป็นเวลา 2 เดือน ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2498 โจทก์กับจำเลยที่ 1 พากันไปหอทะเบียนเพื่อโอนรับมรดก และโอนขายให้โจทก์ด้วย ได้พบจำเลยที่ 2 ที่นั่น จำเลยที่ 2 ขอใบแทนโฉนดจากโจทก์ไปแล้วขอเงินโจทก์ไป 640 บาท เพื่อเสียค่าอากรมรดก จำเลยที่ 2 ว่าจะทำให้เรียบร้อย เพราะรู้จักกับเจ้าพนักงานดี ต่อมาเจ้าหน้าที่เอาสมุดมาให้จำเลยที่ 1 เซ็นรับมรดก วันนั้นทำการโอนขายยังไม่เสร็จเจ้าหน้าที่ว่าต้องมาอีกในวันรุ่งขึ้น

วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 ไปบอกโจทก์ที่ร้านว่า ไม่ต้องไปหอทะเบียนเพราะจำเลยที่ 2 บอกว่าวันจันทร์ที่ 18 จะได้รับโอนในวันนั้นเลย โจทก์จึงไม่ได้ไป ต่อมาในวันจันทร์โจทก์ไปหอทะเบียนกับนายวิเชียร ตรวจดูเอกสารต่าง ๆ ปรากฎว่า จำเลยที่ 2 ได้โอนที่พิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ในวันนั้นเองโจทก์ชวนจำเลยที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 2 ที่บ้าน จำเลยที่ 1 ร้องให้ถามจำเลยที่ 2 ว่าทำไมจึงทำเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะเสียทีเขา จำเลยที่ 1 ถามจำเลยที่ 2 ต่อไปว่าพ่อจะช่วยได้อย่างไร ถ้าหากไม่ช่วย ตนต้องติดตราง จำเลยที่ 2 ก็ตอบว่าติดก็ติดไป แกไปติดเองซี จำเลยที่ 2 เห็นจำเลยที่ 1 ร้องไห้มากก็บอกว่าสงสารเอ็ง ข้าให้เอ็ง 40,000 บาท ก็แล้วกัน ที่ดินนี้ก็เป็นแสนแล้ว โจทก์บอกจำเลยที่ 2 ว่า ถ้าให้เงิน 40,000 บาท ก็ขอให้เขียนเช็คให้โจทก์ จำเลยที่ 2 บอกว่าถ้าเขียนเช็คก็ให้แกมา หัวเราะเยาะฉันเท่านั้น ฉันรู้กฎหมายมาแต่เด็ก ๆ แล้ว ถ้าจะเอาเงินไปต้องทำสัญญากู้ไว้ให้ โจทก์ปฏิเสธ แล้วก็ลากลับ

จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ที่พิพาทเป็นของนางนวม ๆ ขายฝากไว้กับนางลูกอินทร์และได้แบ่งขายให้นายเชื้อ 30 ตารางวา นางนวมตายเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2498 ที่พิพาทตกเป็นมรดกได้แก่จำเลยที่ 1 ตามพินัยกรรม ที่ดินนอกจากที่ขายให้นายเชื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ตกลงขายให้โจทก์โดยทำหนังสือไว้ให้และรับเงินไป เมื่อจำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอประกาศรับมรดก จำเลยที่ 2 ช่วยจัดการให้จำเลยที่ 1 ได้เซ็นชื่อในแบบใบมอบฉันทะให้จำเลยที่ 2 ไปโดยไม่ได้กรอกข้อความไว้ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2498 จำเลยที่ 2 ไปบอกจำเลยที่ 1 ว่าโฉนดเรียบร้อยแล้วอยู่ที่จำเลยที่ 2 และได้โอนเป็นของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ว่าทำไมพ่อทำอย่างนี้ จำเลยที่ 2 ว่าอยากได้ที่ดินถ้าอยากได้ให้ไปฟ้องร้องเอา จำเลยที่ 1 จึงไปแจ้งความต่อสถานีตำรวจสำราญราษฎร์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 กระทำการฉ้อโกง

จำเลยที่ 2 นำสืบว่า รู้จักที่พิพาทมาก่อนเพราะเคยเช่านางนวมอยู่เมื่อ พ.ศ. 2485 มีบ้านอยู่ 2 หลัง อีกหลังหนึ่งเป็นของนางเติมเดี๋ยวนี้เป็นของนางเล็ก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2498 นางจิ้มลิ้ม ภรรยาจำเลยที่ 2 บอกว่า จำเลยที่ 1 บอกขายที่พิพาท 60,000 บาท จำเลยที่ 2 ถามจำเลยที่ 3 ๆ ยอมตกลงซื้อ

วันที่ 10 พฤษภาคม 2498 จำเลยที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 2 ตกลงขายที่พิพาทในราคา 60,000 บาท รุ่งขึ้น จึงทำสัญญากัน คือสัญญาซื้อขายหมาย ล.2 หน้า 69 แล้วจำเลยที่ 2 ก็มอบเงินมัดจำ 10,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไป ต่อมาจำเลยที่ 1 มาขอเงินมัดจำเพิ่มขึ้นอีก 4 ครั้ง จำเลยที่ 1 นัดจะไปรับโอนมรดกในวันที่ 14 กรกฎาคม 2498 จำเลยที่ 2 ไปหอทะเบียน พบโจทก์และจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ด้วยกันจำเลยที่ 1 แนะนำจำเลยที่ 2 ให้รู้จักโจทก์ แล้วได้โอนรับมรดกเสร็จในวันนั้นจำเลยที่ 1 ถามจำเลยที่ 2 ว่าอยากโอนให้จำเลยที่ 3 เสียให้เสร็จในวันรุ่งขึ้นจะทันไหม จำเลยที่ 2 ว่าทัน จำเลยที่ 1 ว่าจะมอบให้จำเลยที่ 2 ไปจัดการโอนแทนในวันรุ่งขึ้น

วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 มาตามนัด จำเลยที่ 2 เขียนใบมอบอำนาจว่า จำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการขายที่ดินแทนนายวัฒนา นางพะเยีย บุตรชาย บุตรสะใภ้ลงนามเป็นพยาน แล้วจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินที่ยังค้างอยู่อีก 44,500 บาท ตามเอกสารหมายล.2 หน้า 70 และได้จัดการโอนกันเสร็จในวันนั้นเอง คือวันที่ 15 กรกฎาคม 2498

รุ่งขึ้นวันที่ 16 กรกฎาคม 2498 โจทก์ จำเลยที่ 1 กับนางลูกอินทร์ไปหาจำเลยที่ 2 ที่บ้าน โจทก์ว่าจำเลยที่ 1 โกงโจทก์ จะทำอย่างไรกัน จำเลยที่ 1 นั่งร้องไห้ โจทก์ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินให้โจทก์ 80,000 บาท จำเลยที่ 1 ว่าไม่มี ที่สุดตกลงกันไม่ได้ ก็พากันกลับรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 มาพูดกับจำเลยที่ 3 ว่าจะขอซื้อที่คืนพร้อมกับจะให้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 3 ไม่ยอมจำเลยที่ 2, 3 ปรึกษากับนางจิ้มลิ้ม ภรรยาเห็นร่วมกันว่าเพื่อตัดความยุ่งยากในเรื่องเจ๊กเช่าที่จึงจะให้จำเลยที่ 1 อีก40,000 บาท ตามหนังสือที่จำเลยที่ 2 เขียนถึงจำเลยที่ 1 หมาย จ.3 พอวันที่ 20 กรกฎาคม 2498 ตำรวจมาตามจำเลยที่ 2 ไปสถานีตำรวจสำราญราษฎร์ โดยจำเลยที่ 1 หาว่าจำเลยที่ 2 ฉ้อโกงที่พิพาท ที่สุดอัยการและตำรวจไม่ฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่พิพาทให้แก่บุคคลอื่นก่อนขายให้แก่จำเลยที่ 3

จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2498 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อและจัดการแทน จำเลยที่ 3 ได้ชำระเงินมัดจำ 10,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 รับไปอีก 4-5 ครั้ง ได้ไปทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2498 จำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาขายที่พิพาทแทนจำเลยที่ 1

พยานโจทก์จำเลยได้ความดังนี้ ศาลแพ่งตั้งประเด็นขึ้นวินิจฉัยเป็น 6 ข้อ คือ

1. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

2. สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

3. ได้มีการสมยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในเรื่องสัญญาจะซื้อขายหรือไม่

4. จำเลยที่ 2 ยักยอกลายมือชื่อ ของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 3 แทน

5. จำเลยที่ 2 ได้ล่วงรู้ถึงการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก่อนหรือไม่

6. ความสุจริต และค่าตอบแทนของจำเลยที่ 3

ประเด็นข้อแรกวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ประเด็น 2สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีหลักฐานเป็นหนังสือตามนัย มาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อตัดฟ้องของจำเลยที่ 2, 3 จึงตกไป ประเด็นข้อ 3 มีเหตุน่าเชื่อว่าสัญญาจะซื้อขายลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2498 เกิดจากความสมยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่สัญญาฉบับอื่นก่อนนั้น คือเอกสาร จ.2 และ จ.4ยังเป็นหลักฐานใช้ได้ตามนัย มาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ ประเด็นข้อ 4 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการโอนขายให้จำเลยที่ 3 แทน หาใช่จำเลยที่ 2 ยักยอกลายมือชื่อไปไม่ ในประเด็นข้อ 5 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบเรื่องสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มาก่อน และประเด็นข้อสุดท้ายฟังว่าจำเลยที่ 3 ได้ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปแล้ว ทั้งได้จดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์กันโดยเรียบร้อยแล้ว โจทก์หามีสิทธิที่จะเรียกให้เพิกถอนสัญญาซื้อขาย และการจดทะเบียนการโอนไม่ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2, 3 แต่ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 65,500 บาท ให้แก่โจทก์

โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแพ่ง

โจทก์ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้ฟังคู่กรณีแถลงคารมประกอบสำนวน และประชุมปรึกษาคดีแล้ว เห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมบูรณ์ถูกต้องใช้ได้ตามกฎหมาย แต่ประเด็นข้อ 3 ที่ศาลล่างชี้ขาดโดยมีเหตุผลน่าเชื่อว่าสัญญาจะซื้อขายหมาย จ.5 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2498 เกิดจากความสมยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยอ้างเหตุผลว่าในชั้นสอบสวนโจทก์ให้การว่า เอกสารสัญญาจะซื้อขายหมาย จ.5 นั้น ทำเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2498 แต่นายวิเชียรผู้เขียนสัญญาได้ลงวันที่ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายให้แก่จำเลยที่ 3 เพียง 1 วัน เพื่อจะทำให้เห็นว่ารับซื้อไว้ก่อนหน้าจำเลยที่ 3 ซึ่งขัดกับคำให้การในชั้นพิจารณาของศาลคดีนี้ปรากฏว่าได้มีการไถ่ถอนการขายฝากที่พิพาทจากนางลูกอินทร์ที่หอทะเบียน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2498 และฟังว่า จำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์ 52,000 บาท ไปทำการไถ่ถอน ฉะนั้น โจทก์จะต้องมอบเงินให้จำเลยที่ 1 อย่างช้าก็ในวันไถ่ถอน และโจทก์ก็จะต้องให้จำเลยที่ 1 ทำใบรับเงินไว้ให้ เพราะเป็นจำนวนถึง 52,000 บาทจะทำสัญญากันวันที่ 15 พฤษภาคม ไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นเวลาภายหลังการไถ่ถอน ชั้นสอบสวนโจทก์อาจให้การผิดหลงพลั้งพลาดไปทั้งโจทก์ก็อ้างว่าเจ้าพนักงานสอบสวนมิได้อ่านคำให้การให้โจทก์ฟังก่อนลงชื่อ แต่นายวิเชียร นางสาวพรรณี และจำเลยที่ 1 ก็ให้การต้องกันว่า เอกสาร จ.5 ได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2498 และไม่ได้ลงวันย้อนหลัง กรณีจะประการใดก็ตามเอกสาร จ.2, 4 ก็ยังแสดงถึงการซื้อขายที่พิพาทก่อนจำเลยที่ 3 เป็นเวลาตั้ง 3 เดือนอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งโจทก์ หรือนายวิเชียรจะล่วงรู้ได้อย่างไรว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกันเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ตามคำของจำเลยที่ 2 กลับปรากฏว่า เมื่อลงชื่อกันแล้วในสัญญา จำเลยที่ 2 จึงลงวันภายหลัง นายไพบูลย์ผู้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาก็ปฏิเสธว่า ไม่ได้ลงชื่อลายเซ็นตัวอย่างของนายไพบูลย์ก็เห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดแจ้งว่าเป็นคนละคนกับลายเซ็นในสัญญาจำเลยที่ 2 ก็ไม่ยืนยัน กลับแก้เลี่ยงไปว่าเป็นอีกคนหนึ่ง อีกประการหนึ่งโจทก์เคยอยู่กับนางนวมที่บ้านเลขที่ 1253 ง. เพราะบ้านเดิมโจทก์ถูกรื้อถอน ระหว่างที่นางนวมยังมีชีวิตอยู่ โจทก์เคยอุปการะให้จำเลยที่ 1 ยืมเงินไปเลี้ยงดูนางนวม 5 ครั้ง ตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 เป็นจำนวนเงิน 3,500 บาท ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2498 จำเลยที่ 1 มายืมเงินโจทก์ไปทำศพนางนวมอีก 5,000 บาท โดยตกลงจะขายที่พิพาทในราคา 70,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 28เมษายน 2498 จำเลยที่ 1 มาเอาเงินจากโจทก์ไปเผาศพนางนวมอีก 5,000 บาท รวมกับที่รับไปแล้วเป็นเงิน 13,500 บาท เป็นเงินมัดจำจะซื้อที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม จำเลยที่ 1 มาขอให้โจทก์ไถ่ถอนที่พิพาทจากนางลูกอินทร์ เมื่อตกลงกันจึงได้ทำเอกสารหมาย จ.5 นี้ขึ้นอีก ดังนี้ จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีอยู่ต่อกันเพียงไร แสดงว่าโจทก์ได้ติดต่อซื้อที่พิพาทด้วยความสุจริตใจมาตั้งแต่ต้น ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มาในการเลี้ยงดูนางนวมจนกระทั่งจัดการทำศพ จะฟังว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมยอมกันดูเป็นการฝ่าผืนขืนขัดต่อข้อเท็จจริงในท้องสำนวน

ส่วนประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่า จำเลยที่ 2 ยักยอกลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 รับว่าได้ทำเอกสาร ล.2 หน้า 69 จริงซึ่งจำเลยที่ 1 รับเงินมัดจำในการซื้อขายที่พิพาทไปจากจำเลยที่ 3 ฉะนั้น ที่จำเลยที่ 1 มอบใบฉันทะให้จำเลยที่ 2 จัดการโอนโฉนดแทนนั้น จึงไม่เป็นการยักยอกลายมือชื่อ เพราะจำเลยที่ 1 มีข้อผูกพันอยู่กับจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 หักหลังโจทก์เพราะทำสัญญาจะขายให้โจทก์แล้วกลับไปทำสัญญาจะขายให้จำเลยที่ 3 บุตรจำเลยที่ 2 อีก จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าไม่ได้รับเงินงวดสุดท้ายจากจำเลยที่ 3 ตามสัญญาซื้อขายที่หอทะเบียนฝ่ายจำเลยที่ 2 นำสืบว่าได้จ่ายเงินที่ยังค้างอยู่อีก 44,500 บาท ให้จำเลยที่ 1 ในวันโอนนั้นเอง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ออกใบเสร็จให้ศาลฎีกาไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะได้จ่ายเงินจำนวนนี้ให้จำเลยที่ 1 จริง เพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญดี เคยรับราชการในตำแหน่งพนักงานคลังจังหวัด ไฉนจะมอบเงินจำนวนตั้งสี่หมื่นบาทเศษให้จำเลยที่ 2 ไปโดยไม่มีใบรับ ส่วนจำนวนเงินเพียงพันบาทกลับต้องมีใบรับเป็นหลักฐาน ยิ่งกว่านั้นปรากฏตามคำโจทก์ว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 2 ที่บ้าน จำเลยที่ 1 ร้องให้ขอให้จำเลยที่ 2 ช่วย เพราะกลัวจะติดตรางจำเลยที่ 2 ว่า ข้าสงสารเอ็ง ข้าให้เอ็ง 40,000 บาท ก็แล้วกัน และยังมีเอกสาร จ.3 สนับสนุนอยู่อีก แสดงชัดว่าจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ให้เงินจำเลยที่ 1 ครบเต็มตามจำนวน ถ้าจำเลยที่ 2 ชำระให้แล้วจริงไฉนจึงรับจะให้จำเลยที่ 1 อีกถึง 40,000 บาท รวมราคาที่ดินเป็น 100,000 บาทพอดี จึงไม่มีเหตุผลอันควรรับฟัง

ประเด็นต่อไปที่ว่าจำเลยที่ 2 ได้ล่วงรู้ถึงการจะซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก่อนหรือไม่ จำเลยที่ 1 เบิกความว่าได้เล่าให้จำเลยที่ 2 ฟังว่า ได้เอาเงินจากโจทก์มาไถ่การขายฝากจากนางลูกอินทร์จะฟังเป็นความจริงได้เพียงไรแม้จำเลยที่ 2 จะปฏิเสธความข้อนี้ก็ดีแต่ก็เบิกความรับว่าได้ทราบว่าที่พิพาทได้ขายฝากไว้กับนางลูกอินทร์ ๆ เคยมาบ้านจำเลย ที่ 2 และโจทก์กับจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานในการไถ่ถอนการขายฝากเมื่อจำเลยที่ 1 ทำการโอนรับมรดกที่พิพาท จำเลยที่ 2 ก็ไปที่หอหอทะเบียนด้วย จำเลยที่ 2 รับว่าได้รับเงินจากโจทก์ 640 บาทไปเสียค่าอากรมรดกแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมรู้จักฐานะของจำเลยที่ 1 ดีถึงขนาดที่จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 ว่าพ่อและได้ลงนามเป็นพยานในการไถ่ขายฝากเป็นจำนวนเงินถึง 52,000 บาทจำเลยที่ 2 ย่อมรู้ดีว่าจำเลยที่ 1 เอาเงินที่ไหนมาไถ่ถอน จำเลยที่ 1 เองก็ต้องหยิบยืมจำเลยที่ 2 ครั้งละพันสองพัน ฉะนั้นที่จำเลยที่ 1 บอกจำเลยที่ 2 ว่า เอาเงินจากโจทก์มาไถ่ถอนการขายฝากจากนางลูกอินทร์ โดยตกลงจะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์จึงควรรับฟังว่าเป็นความจริง พิเคราะห์ดูจำเลยที่ 1 เป็นตัวยุ่งที่สุด เอาเรื่องนี้ทำสัญญาจะขายให้โจทก์รับเงินไปวันนี้รุ่งขึ้นก็ไปทำจะขายรับเงินจากจำเลยที่ 2 อีก ฝ่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวประกอบเพราะความอยากได้ที่พิพาทเป็นกำลัง ในราคาชำระเงินจริงเพียงหมื่นบาทเศษ จึงยอมเสี่ยงภัยในชื่อเสียงและทรัพย์เข้าสู้คดีศาลชั้นต้นยกตรรกวิทยาว่าบุคคลธรรมดา จะไม่ทำเช่นนั้นก็น่าจะเป็นความจริง แต่จะนำมาใช้แก่จำเลยที่ 2 ในคดีนี้หาได้ไม่พฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาเชื่ออย่างเหลือเกินและฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ล่วงรู้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทแก่โจทก์ไว้ก่อน แล้วจำเลยที่ 1, 2 ได้สมคบกันกระทำกลฉ้อฉลโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายและเสียเปรียบ รูปคดีเป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์ไม่มีทางบังคับชำระหนี้ได้ ลูกหนี้ได้กระทำการทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นการให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ประเด็นข้อสุดท้ายในเรื่องความสุจริต และค่าตอบแทนของจำเลยที่ 3 เกือบจะกล่าวได้ว่าจำเลยที่ 3 จะไม่ใคร่รู้เรื่องอะไรสุดแล้วแต่จำเลยที่ 2 ผู้บิดาจะเชิดไป เพราะจำเลยที่ 2 จัดการแทนจำเลยที่ 3 ทั้งสิ้นในเรื่องราคานั้น เฉพาะที่พิพาท นอกจากที่แบ่งขายให้นายเชื้อ โจทก์ยังให้ราคาถึง 70,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ซื้อทั้งโฉนด คือรวมทั้งที่ขายให้นายเชื้อด้วยในราคาเพียง 60,000 บาท โดยไม่ต้องต่อรองราคากัน จำเลยที่ 2 รับว่าที่ตรงที่ขายให้นายเชื้อราคา 50,000 บาท และที่พิพาทราคาหนึ่งแสนบาทจึงเห็นได้ว่าราคาที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ผิดกันไกลกับราคาจริงอยู่มาก ยิ่งเป็นข้อประกอบในความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2, 3 ยิ่งขึ้น

ทนายจำเลยแถลงว่า โจทก์ในคดีนี้ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยได้เพราะที่พิพาทเป็นของนางลูกอินทร์ผู้รับขายฝาก กรรมสิทธิ์จึงเป็นของนางลูกอินทร์ เห็นว่าที่พิพาทนี้ จำเลยที่ 1 ได้เอาเงินจากโจทก์ไปไถ่ถอนการขายฝากดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2498 กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทจึงตกมายังจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้รับมรดกโดยสมบูรณ์ และที่จำเลยที่ 1, 2 ได้สมคบกันกระทำการกลฉ้อฉลโจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบ และเสียหายดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องได้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นด้วยประการฉะนี้

ประมวลเหตุผลแห่งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นศาลฎีกาจึงพร้อมกันพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง โดยชี้ขาดให้เพิกถอนทำลายนิติกรรมซื้อขาย และการจดทะเบียนเลขที่ 3332 เนื้อที่ประมาณ 58 ตารางวา พร้อมทั้งบ้านเลขที่ 1253 ง.ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ให้กลับคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้วให้จำเลยที่ 1 โอนขายให้โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปทำโอนขายก็ให้ถือเอาคำพิพากษานี้เป็นการแสดงเจตนาให้จำเลยทั้งสามเสียค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความตลอด 3 ศาลแทนโจทก์ 5,000 บาท บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษานี้

Share