แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และเจ้าหนี้อื่นไม่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้และรับผิดในบรรดาค่าธรรมเนียมค่าเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในคดีล้มละลายและไม่มีเจ้าหนี้อื่นเต็มใจกระทำการดังกล่าวภายในกำหนด1 เดือน นับแต่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ขัดขืนละเลยนั้น แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรวบรวมเงินเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยบ้างแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่ขอให้ศาลสั่งปิดคดีก็ตาม ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ศาลสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ก็มีสิทธิขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 135
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย และจำเลยยังไม่พ้นภาวะดังกล่าวนั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้รายที่ 21 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2531 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดที่ดินรวม 45 แปลงของจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เรียกให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้นำยึด แต่โจทก์ที่ 1ไม่ยอมนำยึดและไม่มีเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์รายใดไปดำเนินการยึดทรัพย์แทนทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยได้ ขอให้มีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลย
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 คัดค้านว่ายังติดใจที่จะดำเนินการกับจำเลยอยู่ต่อไปไม่ได้มีเจตนาที่จะประวิงคดีขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จากคำเบิกความของผู้ร้องและตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แสดงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลเพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายเพราะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ช่วยเหลือเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้อง โดยบรรดาเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ส่อให้เห็นพฤติการณ์ตั้งแต่ไม่ยอมช่วยค่าธรรมเนียมศาลในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ที่ให้ปล่อยทรัพย์สินตามที่นางอรวรรณได้ร้องขัดทรัพย์ ต่อมาเมื่อจะทำการยึดที่ดินของจำเลย 45 แปลง ที่จังหวัดตาก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายนัดให้โจทก์ที่ 1นำเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดตากไปทำการยึด โจทก์ที่ 1ก็ไม่ไปตามกำหนดนัด แม้ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 3 โจทก์ที่ 1จะแจ้งว่าเหตุที่ไม่ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดตากไปยึดทรัพย์สินของจำเลยเพราะสำเนาโฉนดที่ดินและน.ส. 3 ที่ส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดตากหายไป ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจสำนวนแล้วปรากฏว่าหายไปจริง แต่โจทก์ก็ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า จะไม่เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต่อไปและเมื่อได้มีการหาเอกสารสิทธิที่ดินทั้ง 45 แปลงมาได้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไปนำยึดอีกแต่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็หาสนใจที่จะนำยึดที่ดินดังกล่าวของจำเลยไม่ ในการประชุมเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ครั้งที่ 4 เพื่อปรึกษาถึงเรื่องยึดที่ดิน 45 แปลง ของจำเลยและแต่งตั้งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ใหม่แทนเจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์เดิมที่ไม่ยอมช่วยเหลือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลย ก็ไม่มีเจ้าหนี้ผู้ใดมาประชุมเลย เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อีก และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้รายงานไว้ในเอกสารหมาย ร.9 ว่า การที่ไม่มีเจ้าหนี้มาประชุมครั้งนี้ถือว่าบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายไม่ติดใจดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ที่ดินทั้ง 45 แปลง คืนต้นฉบับเอกสารเกี่ยวกับที่ดินทั้ง 45 แปลงที่เรียกมาจากนางอรวรรณไป ซึ่งบรรดาเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็มิได้คัดค้านข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า บรรดาเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเองและเจ้าหนี้อื่นไม่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ และรับผิดในบรรดาค่าธรรมเนียมค่าเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในคดีล้มละลายนั้น และไม่มีเจ้าหนี้อื่นสามารถและเต็มใจกระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ขัดขืนละเลยนั้น แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรวบรวมเงินเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยแล้วประมาณหนึ่งหมื่นบาท และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่ขอให้ศาลสั่งปิดคดีเท่านั้นก็ตาม ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ศาลสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้วก็มีสิทธิขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 135 และคดีมีเหตุสมควรที่จะสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 135(1) ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลย