แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม ตามฟ้องก็ดี ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคแรก ที่พิจารณาได้ความก็ดีมีองค์ประกอบความผิดร่วมกันประการหนึ่งว่า “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล…” ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัตถุแห่งการกระทำความผิดกฎหมายทั้งสองมาตรานี้ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองคืออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลนั่นเอง มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก ดังนั้น ผู้เสียหายคือบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดทั้งสองมาตรานี้ตามมาตรา 2 (4) แห่ง ป.วิ.อ. จึงได้แก่บิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เยาว์ทั้งสองในขณะที่จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำความผิด หาใช่ตัวผู้เยาว์คือโจทก์ร่วมทั้งสองไม่
ขณะที่โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น โจทก์ร่วมทั้งสองยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 และมาตรา 20 และผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) การที่โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเอง จึงมิได้เป็นไปตามบทบังคับว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ศาลฎีกาจะยกคำร้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะสั่งแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมทั้งสองในขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมทั้งสองมีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมทั้งสองอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 276, 278, 318 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อหาอนาจาร ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาว ก. และนางสาว ข. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 20 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 278 จำคุก 5 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ข้อหาอื่นให้ยก รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กธย กรุงเทพมหานคร 107 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดจึงไม่ริบ
โจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม กำหนดโทษจำคุกคนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 รับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายจนโจทก์ร่วมที่ 2 และมารดาโจทก์ร่วมทั้งสองมาศาลและแถลงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ถือว่าจำเลยที่ 3 รู้สึกถึงความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น จึงเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ดังนี้ สำหรับจำเลยที่ 1 จำคุกรวม 13 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 6 ปี จำเลยที่ 3 เฉพาะในข้อหาความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ คงเหลือโทษจำคุก 4 ปี ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2528 โจทก์ร่วมที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2527 เป็นพี่น้องกัน ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมทั้งสองอายุเกิน 15 ปี แล้วแต่ยังไม่เกิน 18 ปี และอยู่ในความปกครองดูแลของนาย อ. ซึ่งเป็นน้าและนาง จ. ซึ่งเป็นยาย จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับพวกข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 โดยร่วมกระทำผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ส่วนำจเลยที่ 3 ได้กระทำอนาจารโจทก์ร่วมที่ 2 จริงตามฟ้อง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกับพวกพรากโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากนาย อ. และนาง จ. ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแล โดยโจทก์ร่วมทั้งสองไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีโจทก์ร่วมทั้งสองเบิกความและให้การต่อพนักงานสอบสวนสอดคล้องต้องกันว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 21 นาฬิกา หลังจากเลิกเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่ร้านใกล้บ้านแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสองนำรถจักรยานยนต์ของนาย น. หรือ บ. มาหัดขับที่บริเวณวัดกัลยาณ์ จนถึงเวลาประมาณ 22 นาฬิกา รถจักรยานยนต์สตาร์ตไม่ติด มีนายโต้งและจำเลยทั้งสามกับพวกรวม 8 คน ขับรถจักรยานยนต์ 6 คัน เข้ามาหา นายโต้งถามว่ารถจักรยานยนต์เป็นอะไร แล้วนายโต้งขึ้นนั่งขับรถจักรยานยนต์ของนาย น. ให้นายติ้งซึ่งขับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งเป็นคนถีบรถจักรยานยนต์ที่นายโต้งขับให้แล่นไปได้ และจำเลยทั้งสามก็ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาหาให้โจทก์ร่วมที่ 1 ขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายตั้ม ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 3 แล่นตามไป เมื่อกลุ่มรถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสามกับพวกขับมาถึงบริเวณที่นาย น. นั่งอยู่ จำเลยทั้งสามกับพวกกลับไม่ยอมจอดรถ แต่ยังคงขับเรื่อยไปจนถึงสะพานพระปกเกล้า รถจักรยานยนต์ของนาย น. ก็สตาร์ตติด นายโต้งคงขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวต่อไปจนถึงบริเวณเสาชิงช้า โจทก์ร่วมทั้งสองจึงบอกให้นายโต้งนำรถจักรยานยนต์ไปคืนนาย น. แล้ว โจทก์ร่วมทั้งสองจะยอมนั่งรถไปเที่ยวกับพวกนายโต้ง นายโต้งจึงขับรถจักรยานยนต์ไปคืนนาย น. แล้วกลุ่มพวกจำเลยทั้งหมดก็พากันขับรถจักรยานยนต์มาที่บ้านของจำเลยที่ 2 จนกระทั่งถึงเวลาเที่ยงคืน โจทก์ร่วมที่ 2 บอกให้จำเลยทั้งสามกับพวกพาโจทก์ร่วมทั้งสองไปส่งที่บ้าน แล้วโจทก์ร่วมที่ 2 ขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายโต้ง ส่วนโจทก์ร่วมที่ 1 ขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 โดยมำจเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกตามไปด้วย เมื่อไปถึงทางเข้าหมู่บ้านชัชฎาวิลล่า นายติ้งบอกกับนายโต้งว่ารถจักรยานยนต์คันของนายโต้งน้ำมันจะหมด ให้โจทก์ร่วมที่ 2 ไปนั่งรถจักรยานยนต์ของนายติ้งแทนโดยมีจำเลยที่ 3 นั่งซ้อนกลาง หลังจากนั้นรถจักรยานยนต์คันที่โจทก์ร่วมที่ 2 นั่งก็แยกกับรถจักรยานยนต์คันที่โจทก์ร่วมที่ 1 นั่ง โดยนายติ้งขับรถจักรยานยนต์พาโจทก์ร่วมที่ 2 เข้าไปในที่เปลี่ยว มีนายโต้งและนายตั้มตามมา นายติ้งจอดรถ จำเลยที่ 3 เข้ามากอดโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วดึงโจทก์ร่วมที่ 2 ไปบริเวณที่มีหญ้า จำเลยที่ 3 จูบแก้มโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 ดิ้นรนขัดขืน จำเลยที่ 3 บังคับให้โจทก์ร่วมที่ 2 นั่งลงแล้วถอดกางเกงชั้นนอกและชั้นในของโจทก์ร่วมที่ 2 ออก จำเลยที่ 3 ใช้มือล้วงเข้าไปในอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 2 นายโต้งเข้ามาช่วยจับมือโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วจำเลยที่ 3 นั่งคร่อมโจทก์ร่วมที่ 2 ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ถอดกางเกง นายโต้งร้องห้าม จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วให้โจทก์ร่วมที่ 2 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายโต้งไปที่บ้านของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 ตามไปด้วยเมื่อไปถึง จำเลยที่ 3 เข้ามากอดโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 ขัดขืน นายโต้งตามมาจะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 แต่มีจ่าสิบตำรวจบรรจง ปรังฤทธิ์ ขับรถยนต์สายตรวจผ่านมา โจทก์ร่วมที่ 2 ร้องเรียกและบอกให้จ่าสิบตำรวจบรรจงทราบ เมื่อไปดูที่เกิดเหตุแล้วจ่าสิบตำรวจบรรจงได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปที่สถานีตำรวจนครบาลศาลาแดง โจทก์ร่วมที่ 2 จึงโทรศัพท์แจ้งเหตุให้นาง จ. ยายของโจทก์ร่วมทั้งสองทราบ สำหรับจำเลยที่ 1 ได้ความจากโจทก์ร่วมที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปที่เปลี่ยว โดยมีนายติ้งขับรถตามมา แล้วคนทั้งสองจอดรถจักรยานยนต์ นายติ้งเดินมาล็อกแขนโจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยที่ 1 เข้ามาถอดกางเกงชั้นนอกและชั้นในของโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วจับให้นอนกับพื้น นายติ้งได้ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 1 ช่วยจับตัวโจทก์ร่วมที่ 1 ไว้ เมื่อนายติ้งสำเร็จความใคร่แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ต่อ แล้วจำเลยที่ 1 พาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปส่งที่ร้านเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในครั้งแรก แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่พบโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ร้านเกมดังกล่าว จึงโทรศัพท์ไปถามนาง จ. แล้วตามไปที่สถานีตำรวจนครบาลศาลาแดง ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมทั้งสองจะได้ความว่า หลังจากที่นายโต้งนำรถจักรยานยนต์กลับไปคืนนาย น. แล้ว โจทก์ร่วมทั้งสองจะเต็มใจนั่งรถไปเที่ยวกับกลุ่มพวกของนายโต้งและจำเลยทั้งสามก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า วันเกิดเหตุโจทก์ร่วมทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์มีอายุกว่า 15 ปี แต่งยังไม่เกิน 18 ปี และอยู่ในความปกครองดูแลของนาย อ. และนาง จ. การที่จำเลยทั้งสามกับพวกพาโจทก์ร่วมทั้งสองไปล่วงเกินทางเพศ โดยจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับนายติ้งพาโจทก์ร่วมที่ 1 แยกจากโจทก์ร่วมที่ 2 ไปข่มขืนกระทำชำเราโดยร่วมกันกระทำด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง และจำเลยที่ 3 ได้กระทำอนาจารโจทก์ร่วมที่ 2 เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันพรากโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากนาย อ. และนาง จ. ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ทั้งสองเต็มใจไปด้วย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก หาใช่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ทั้งสองไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตามมาตรา 318 วรรคสาม ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาไม่ และแม้ว่าคดีนี้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานพรากผู้เยาว์ทั้งสองไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตามมาตรา 318 วรรคสาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เยาว์คือโจทก์ร่วมทั้งสองเต็มใจไปด้วยกับจำเลยทั้งสาม อันเป็นความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีโทษเบากว่า ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 319 วรรคแรก ได้ เพราะการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยหรือไม่ก็ตามประมวลกฎหมายอาญาก็บัญญัติเป็นความผิดทั้งสิ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คดีก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยตามประเด็นที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองเต็มใจไปด้วยกับจำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงขาดองค์ประกอบและไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม แต่อย่างใด คงมีปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกด้วยหรือไม่เท่านั้น โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสามกับพวกขับรถจักรยานยนต์มาพบรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ร่วมทั้งสองขับสตาร์ตไม่ติด จึงเข้าช่วยเหลือและพาโจทก์ร่วมทั้งสองไปเพื่อการอนาจารนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า จำเลยทั้งสามกับพวกมิได้มีการคบคิดกันมาก่อน ส่วนเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 กับพวกพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปข่มขืนกระทำชำเรา และจำเลยที่ 3 กับพวกพาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปกระทำอนาจารก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกพาโจทก์ร่วมทั้งสองออกไปจากบ้านจำเลยที่ 2 แล้ว แม้โจทก์ร่วมที่ 2 จะเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ร่วมไปด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 ลวนลามโจทก์ร่วมที่ 2 ด้วยแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า แม้เหตุการณ์ตอนแรกที่นายโต้งกับกลุ่มพวกจำเลยทั้งสามเข้าช่วยเหลือโจทก์ร่วมทั้งสองสตาร์ตรถจักรยานยนต์ของนาย น. จะเกิดขึ้นโดยบังเอิญมิได้คบคิดกันมาก่อนดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 อยู่ร่วมต่อมาในเหตุการณ์ตอนหลังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกพาโจทก์ร่วมทั้งสองมาที่บ้านของจำเลยที่ 2 จนกระทั่งถึงเวลาเที่ยงคืนหลังจากนั้นก็แยกกลุ่มกันโดยจำเลยที่ 1 กับพวกพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปข่มขืนกระทำชำเราโดยร่วมกระทำด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกพาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปกระทำอนาจารในที่เปลี่ยวแล้วพากลับมาจะข่มขืนกระทำชำเราที่บ้านของจำเลยที่ 2 อีกเช่นนี้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์คือโจทก์ร่วมทั้งสองไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำการลวนลามโจทก์ร่วมที่ 2 ด้วยก็ตาม ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า นาย อ. และนาง จ. เป็นเพียงน้าและยายของโจทก์ร่วมทั้งสอง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย แต่ผู้เสียหายตามกฎหมายได้แก่ผู้เยาว์คือโจทก์ร่วมทั้งสองและผู้แทนโดยชอบธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (1) ซึ่งได้แก่บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่านาย อ. และนาง จ. เป็นผู้เสียหายจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม ตามฟ้องก็ดี ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคแรก ที่พิจารณาได้ความก็ดี มีองค์ประกอบความผิดร่วมกันประการหนึ่งว่า “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล…” ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัตถุแห่งการกระทำควาผิดกฎหมายทั้งสองมาตรานี้ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองคือ อำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลนั่นเอง มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก ดังนั้น ผู้เสียหายคือบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดทั้งสองมาตรานี้ตามมาตรา 2 (4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงได้แก่บิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เยาว์ทั้งสองในขณะที่จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำความผิด หาใช่ตัวผู้เยาว์คือโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น ผู้เสียหายคือบิดามารดา หรือผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ซึ่งในคดีนี้คือนาย อ. และนาง จ. จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่พรากผู้เยาว์ คือโจทก์ร่วมทั้งสองและข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่า ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ที่พิจารณาได้ความนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำผิดและได้พรากโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากนาย อ. และนาง จ. ซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยโจทก์ร่วมทั้งสองเต็มใจไปด้วย ย่อมถือได้ว่าความผิดฐานพรากผู้เยาว์สำเร็จนับตั้งแต่จำเลยที่ 1 กับพวกเริ่มพรากโจทก์ร่วมทั้งสองไปโดยมีเจตนาและมีเจตนาพิเศษเพื่อการอนาจารแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ก็ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินจำนวน 10,000 บาท ให้แก่นาย อ. ผู้ปกครองของโจทก์ร่วมทั้งสองเพื่อชดใช้ค่าเสียหายและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ขอให้ลงโทษสถานเบาในอัตราขั้นต่ำนั้น เห็นว่า สำหรับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ก่อนลด จำคุก 20 ปี เป็นการลงโทษในอัตราขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับโทษที่มีกำหนดเวลาว่าให้จำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี จึงเป็นโทษสูงเกินสมควร เพราะไม่ปรากฏว่าการร่วมกระทำผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธอะไรประทุษร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วยจึงสมควรลงโทษจำเลยที่ 1 ให้เบาลงเพื่อให้เหมาะสมแก่ความผิดของจำเลยที่ 1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่อ้างว่า จำเลยที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์อายุยังไม่เกิน 18 ปี เพราะจำเลยที่ 3 เข้าใจว่าโจทก์ร่วมทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้วนั้น เป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 3 ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ศาลฎีกาตรวจสำนวนพบว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2528 ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2527 ขณะที่โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27 มิถุนายน 2545 นั้น โจทก์ร่วมทั้งสองยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 และมาตรา 20 และผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจจัดการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (1) การที่โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเอง จึงมิได้เป็นไปตามบทบังคับว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ศาลฎีกาจะยกคำร้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะสั่งแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมทั้งสองในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมทั้งสองมีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมทั้งสองอีก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ของจำเลยที่ 1 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 16 ปี และจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก จำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีเหตุบรรเทาโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์