คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษเพื่อมิให้ต้องถูกบังคับในคดีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่นั้น ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) บัญญัติว่า “…ให้ผู้ที่อ้างว่ามิใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา” บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับเด็ดขาดว่า ผู้ที่อ้างว่ามิใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ คงมีผลเพียงว่า ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ระยะเวลา 8 วัน ดังกล่าวจึงเป็นกำหนดเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ไม่ใช่กำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาอันจะเป็นการตัดสิทธิของผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 จะยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศหรือไม่ก็ตาม ก็หามีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 ที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนและวินิจฉัยปัญหาตามคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 ให้สิ้นกระแสความ

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากคดีทั้งสิบเอ็ดสำนวนนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยแต่ละสำนวนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ให้โจทก์ที่ 2 กับพวกเช่า อ้างว่าจำเลยแต่ละสำนวนบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดิน ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้คงเรียกโจทก์ทั้งสองในทุกสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และเรียกจำเลยในสำนวนแรกถึงสำนวนสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ตามลำดับ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและบ้านเลขที่ 44/4, 43/3, 46/1, 48/3, 19/2, 19/33, 47/1, 44, 48, 43/2 และ 41/1 หมู่ที่ 13 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 904 และ 905 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 และที่ 10 ส่วนจำเลยยื่นพิพากษายืนคดีถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 และที่ 10 โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เนื่องจากจำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อนแล้ว
ผู้ร้องทั้งแปดยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีประกาศให้ผู้ร้องทั้งแปดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 904 และ 905 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ร้องทั้งแปดไม่ใช่บริวารของจำเลย แต่ผู้ร้องทั้งแปดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยการเช่า และได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือ ผู้ร้องทั้งแปดทำนาหรือทำเกษตรกรรมในที่ดิน ต้องสันนิษฐานว่ามีการเช่าที่ดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่า 6 ปี ผู้ร้องทั้งแปดชำระค่าเช่าตลอดมา ไม่เคยมีการบอกเลิกการเช่าเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทั้งแปดทราบ เมื่อได้รับหมายผู้ร้องทั้งแปดจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อ คชก.ตำบล เพื่อดำเนินการต่อไปเป็นอีกส่วนหนึ่ง ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดีที่บังคับแก่ผู้ร้องทั้งแปดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องทั้งแปดอ้างเหตุว่าไม่ใช่บริวาร จะต้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนด 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งแปดมิได้บรรยายว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศเมื่อใด และไม่อาจอนุมานได้ว่าผู้ร้องทั้งแปดได้ใช้สิทธิภายในกำหนด 8 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 ชอบหรือไม่ เห็นว่า การยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษเพื่อมิให้ต้องถูกบังคับคดีในคดีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) บัญญัติว่า “…ให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา” บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับเด็ดขาดว่า ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ คงมีผลเพียงว่า ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ระยะเวลา 8 วัน ดังกล่าวจึงเป็นกำหนดเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ไม่ใช่กำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาอันจะเป็นการตัดสิทธิของผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 จะยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศหรือไม่ก็ตาม ก็หามีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 ที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนและวินิจฉัยปัญหาตามคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 ให้สิ้นกระแสความ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 ด้วยเหตุคำร้องมิได้แสดงให้เห็นว่าได้ยื่นภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศหรือไม่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยปัญหาว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นบริวารของจำเลยหรือไม่ ซึ่งมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่

Share