คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7180/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มีลักษณะเป็นคดีปกครอง แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้สอบถามโจทก์เสียก่อนว่าโจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องหรือไม่ หากโจทก์ไม่เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ศาลต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับคำฟ้องดังกล่าวด้วยว่าให้โจทก์แจ้งต่อศาลปกครองว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 12 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2544 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ในการดูแลที่สาธารณะแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยเจตนากระทำความผิดต่อกฎหมายใช้ให้จำเลยที่ 3 ซึ่งรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโคกครามเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกถมดินลงในคลองลำเจียกซึ่งเป็นลำรางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันกว้างประมาณ 17 เมตร ยาว 133 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ไม่ได้บุกรุกคลองลำเจียกและไม่ได้ถมดินลงในคลองลำเจียกแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2544 จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกถมดินลงในคลองเพื่อขยายพื้นที่ออกไปกว้างประมาณ 17 เมตร ยาว 133 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา ซึ่งคลองดังกล่าวเป็นลำรางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ไม่ได้บุกรุกและไม่ได้ถมดินลงในคอลงลำรางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2547 จำเลยที่ 4 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนของสำนักงานเขตบึงกุ่ม ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลยที่ 1 เบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลคดีหมายเลขดำที่ 3005/2546 ของศาลอาญาคดีระหว่างพนักงานอัยการ (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) โจทก์ นายวิรัช รัตนตยาธิคุณ (โจทก์คดีนี้) กับพวกรวม 2 คน จำเลย โดยจำเลยที่ 4 ในฐานะพยานได้เบิกความตอบโจทก์ในคดีดังกล่าวมีใจความว่า เกี่ยวกับคดีดังกล่าวจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอาคารสถานที่พิพาท เนื่องจากก่อนหน้านั้นสำนักงานเขตบึงกุ่มได้รับแจ้งจากสำนักงานการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ว่ามีการก่อสร้างอาคารรุกล้ำคลองสาธารณะบริเวณคลองลำเจียก แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร จากการตรวจสอบอาคารชั้นเดียวทั้ง 6 หลัง ก่อสร้างบริเวณที่เป็นส่วนสาธารณะอาคารที่ปลูกสร้างนอกแบบนั้นปลูกบนที่ดินสาธารณะซึ่งอยู่ติดคลอง ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารเป็นที่ดินของโจทก์และต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนใส่ชื่อบุตรของโจทก์เป็นเจ้าของ จำเลยที่ 4 เจตนาเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลอาญา การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำให้โจทก์เสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และเสียหายต่อทางทำมาหาได้และทางเจริญของโจทก์โดยประการอื่น ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4
ศาลชั้นต้นสั่งว่า การที่โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 นั้น เห็นว่า ศาลยังมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ การที่โจทก์บอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ดังกล่าวจึงถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ต่อไป จึงมีคำสั่งให้คืนฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 ส่วนที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นอันเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคลองสาธารณะใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) มิใช่ศาลยุติธรรม และตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เคยฟ้องคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลอื่นมาก่อนหรือไม่และศาลอื่นนั้นได้มีคำสั่งรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนคำฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดในการกระทำละเมิดเป็นการส่วนตัวนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม จึงมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคดีปกครองซึ่งไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ก่อนมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์เสียก่อนว่า โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ หากมีกรณีดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 12 วรรคสอง กล่าวคือ ศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือหากปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรก และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจกท์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นศาลต่างระบบที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องเสียก่อน และศาลต้องแนะนำโจทก์ให้แจ้งต่อศาลปกครองด้วยว่า เคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง นอกจากนี้ ในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หากโจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากโจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลระบบอื่นที่มีอำนาจ หากศาลในคดีหลังเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจ ศาลนั้นก็ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 12 วรรคสอง ต่อไปเสียก่อนเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีลักษณะเป็นคดีปกครองแล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้สอบถามโจทก์เสียก่อนว่าโจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องหรือไม่ หากโจทก์ไม่เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ศาลต้องแจ้งให้โจกท์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับคำฟ้องดังกล่าวด้วยว่าให้โจทก์แจ้งต่อศาลปกครองว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามนัยดังกล่าวข้างต้นแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรเมนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share