แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำว่า “มัดจำ” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 คือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาจะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่านิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะและโมฆียะ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินคืนโจทก์จำนวน 348,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 309,900 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระค่าก่อสร้างที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายไปเป็นเงินจำนวน 651,748 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสาม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสาม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า เงินจำนวน 180,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 เป็นเงินมัดจำที่จำเลยทั้งสามมีสิทธิริบได้ทั้งหมดหรือไม่ และเงินค่าจ้างก่อสร้างบ้านจำนวน 85,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างเอกสารหมาย จ.5 เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 ระบุว่าในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน เดือนละ 17,000 บาท เริ่มแต่เดือนตุลาคม 2539 เป็นต้นไป งวดสุดท้ายชำระในวันที่ 2 สิงหาคม 2540 จำนวนเงิน 744,000 บาท เห็นว่า คำว่า “มัดจำ” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำขึ้นแล้ว…” แสดงว่า มัดจำต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาข้อ 3 ระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวจำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงว่าจำเลยทั้งสามต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการดำเนินการแบ่งแยกโฉนดจนพร้อมที่จะโอนให้แก่โจทก์ และระยเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่าที่ดินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 จนถึงก่อนวันเบิกเลิกสัญญาคือวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.18 จำเลยทั้งสามต้องเสียโอกาสในการนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่บุคคลอื่นแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามเป็นเงิน 40,000 บาท เมื่อรวมกับมัดจำ 10,000 บาท จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระแล้วได้จำนวน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือ 130,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน