คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 5 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ของห้างฯ จำเลยที่ 1 จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มิใช่หนี้ของจำเลยที่ 2 เป็นส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่ห้างฯ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้รายที่ 5 เท่านั้น ดังนั้น เจ้าหนี้รายที่ 5 จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดห้าง ฯ จำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 และเจ้าหนี้รายที่ 5 จะมีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาก็ตาม.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากบริษัทคาร์แนคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้เป็นโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามอิ๊งค์เป็นจำเลย ขอให้ล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ร้องขอให้นายสุชาติ ตั้งจิตปิยะนันท์ หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยล้มละลายตามจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายสุชาติจำเลยที่ 2 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม2529 ธนาคารกสิกรไทย เจ้าหนี้รายที่ 5 โดยนายสมศักดิ์ วรวิจักษณ์ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าค้ำประกันหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท จำนวน1,389,445.81 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนแล้วเห็นควรให้เจ้าหนี้รายที่ 5 ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน91,267.16 บาท และตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทเป็นเงิน 1,144,140.50 บาท รวมเป็นเงิน 1,235,407.66 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้รายที่ 5 ได้รับชำระหนี้จากห้างฯ จำเลยที่ 1 และหรือนายพิทักษ์ ตั้งจิตปิยะนนท์และหรือนายวรวุฒิ ตั้งจิตปิยะนนท์ ผู้ค้ำประกันแล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้เจ้าหนี้รายที่ 5 ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้รายที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้รายที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้รายที่ 5 มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินต้นตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม2528 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2529 เป็นจำนวนเงิน 154,038.15 บาทอีกด้วยหรือไม่ ที่เจ้าหนี้รายที่ 5 ฎีกาว่า ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้ หรือกู้เบิกเงินเกินบัญชีตลอดจนสัญญาค้ำประกันหนี้สินทุกประเภทตามเอกสารหมาย จ.6 จ.21 จ.22 จ.23 และ จ.24 นั้นจำเลยที่ 2ได้ยอมรับผิดร่วมกับห้างฯ จำเลยที่ 1 ในทันทีที่ห้างฯ จำเลยที่ 1ล้มละลายเพราะฉะนั้นการทวงถามหรือไม่ ไม่ใช่เหตุที่จะสามารถคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เจ้าหนี้รายที่ 5 จึงยังคงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ได้ตลอดมาจนกระทั่งถึงวันที่จำเลยที่ 2ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (วันที่ 27 ตุลาคม 2529) นั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเพราะฉะนั้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีจำกัดจำนวนและจะต้องรับผิดร่วมกับห้างฯ จำเลยที่ 1 เมื่อได้ความว่าหนี้ที่เจ้าหนี้รายที่ 5 ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ของห้างฯ จำเลยที่ 1 ที่เป็นหนี้เจ้าหนี้รายที่ 5 มิใช่เป็นหนี้ของจำเลยที่ 2 เป็นส่วนตัว ดังนี้จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่ห้างฯ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้รายที่ 5 เท่านั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างฯจำเลยที่ 1 เด็ดขาด วันที่ 10 กรกฎาคม 2528 เจ้าหนี้รายที่ 5จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยภายหลังวันที่ 10กรกฎาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100 แม้จำเลยที่ 2 และเจ้าหนี้รายที่ 5 จะมีข้อตกลงในสัญญาดังที่เจ้าหนี้รายที่ 5 อ้างมา เจ้าหนี้รายที่ 5 ก็ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2528 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2529 ที่เจ้าหนี้รายที่ 5 ฎีกาว่า ดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แม้ไม่เป็นหนี้ที่พึงขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย แต่ลูกหนี้ก็ยังต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ตามกฎหมายจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตามคำพิพากษาฎีกาที่229/2506 นั้น ได้พิเคราะห์แล้วคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ เพราะคดีนี้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ จำเลยที่ 1 ด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาเจ้าหนี้รายที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share