แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 8ให้การแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมัสยิดเป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะมีคำสั่ง ไม่มีบทบัญญัติใดของพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีอำนาจแก้ไขคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ใช้อำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวถอดถอนผู้ร้องที่ 2 จากตำแหน่งอิหม่าน กับถอดถอนบุคคลอีกหกคนจากตำแหน่งกรรมการของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 แล้ว แม้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะสั่งแก้ไขคำสั่งถอดถอนดังกล่าวและให้ผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกเข้าดำรงตำแหน่งตามเดิม ก็หามีผลให้ผู้ร้องที่ 2กับบุคคลทั้งหกเป็นกรรมการมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ไม่ และสำหรับผู้ร้องที่ 2 นั้น เนื่องจากมีคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้ผู้ดำรงตำแหน่งอิหม่านรักษาการในตำแหน่งคอเต็บ เมื่อผู้ร้องที่ 2 ถูกถอดถอนจากตำแหน่งอิสลามผู้ร้องที่ 2 จึงไม่มีฐานะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งคอเต็บตามคำสั่งดังกล่าว ผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรรมการของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ตามคำร้องผู้ร้องที่ 2 และผู้ร้องที่ 1 โดยผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 ผู้ร้องที่ 2เป็นอิหม่าน คอเต็บ และกรรมการมัสยิดผู้ร้องที่ 1 เมื่อวันที่26 มีนาคม 2529 นายมาน เหลือรักษ์ บิหลั่น และกรรมการมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอ้างว่า กรรมการมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ว่างลงเหลือแต่นายมาน เหลือรักษ์ เพียงคนเดียวไม่ครบ 7 คน ตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจจัดทำกิจการและดูแลทรัพย์สินของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งนายหมุด เชาว์รูปดี กับพวกรวม 8 คน เป็นกรรมการชั่วคราวต่อมาศาลชั้นต้นได้ไต่สวนและมีคำสั่งแต่งตั้งนายหมุดเชาว์รูปดี กับพวกรวม 8 คน เป็นกรรมการชั่วคราวของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 478/2529 ของศาลชั้นต้น ซึ่งความจริงแล้วขณะที่นายมาน เหลือรักษ์ ยื่นคำร้องดังกล่าวมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ยังมีคณะกรรมการดำเนินกิจการของมัสยิดอยู่ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งกรรมการดำเนินกิจการมัสยิดชั่วคราวแต่ประการใด อีกทั้งกรรมการชั่วคราวที่ศาลชั้นต้นแต่งตั้งมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนและก่อให้เกิดการวุ่นวายในบรรดาสัปบุรุษ จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แต่งตั้งนายหมุด เชาว์รูปดี กับพวกรวม 8 คน เป็นกรรมการประจำมัสยิดของผู้ร้องที่ 1 ชั่วคราว และให้ผู้ร้องที่ 2 กับกรรมการประจำมัสยิดของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการรักษาการอยู่แล้วให้เป็นกรรมการรักษาการของผู้ร้องที่ 1 ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งกรรมการประจำมัสยิดผู้ร้องที่ 1
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องที่ 2 กับพวกอีก6 คน ไม่ใช่กรรมการอิสลามประจำมัสยิดผู้ร้องที่ 1 เพราะผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกได้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีแล้ว ถึงแม้ว่าต่อมาคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะมีมติให้แก้คำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี โดยให้ผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกคืนเข้าดำรงตำแหน่งประจำมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ตามเดิมก็ตาม แต่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีก็เห็นว่ามติและคำสั่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากบุคคลทั้งหกไม่ถูกถอดถอนเสียก่อน เมื่อถึงวันที่ 15 เมษายน 2526 ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะครบวาระ 4 ปี ตามข้อ 12 ของระเบียบว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด(สุเหร่า) พ.ศ. 2492 เนื่องจากได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2522 และไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดให้อำนาจเป็นกรรมการรักษาการได้ ต่อไปอีก การที่ผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกเข้ามาดำเนินกิจการของมัสยิดจึงเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจตามกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้นายหมุด เชาว์รูปดี กับพวกเป็นกรรมการมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ชั่วคราว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบนอกจากนี้เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกไม่ใช่กรรมการของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 แล้ว บุคคลดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้แทนของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 และไม่มีอำนาจเสนอคำร้องต่อศาลในนามของผู้ร้องที่ 1 ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำร้อง ของ ผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่สองฝ่ายไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า มัสยิดรี่ยาดิ๊สสุนันสวนใหญ่ผู้ร้องที่ 1(ผู้คัดค้านที่ 2) เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามพ.ศ. 2490 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีแต่งตั้งให้ผู้ร้องที่ 2 เป็นอิหม่านของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 แต่งตั้งให้จ่าสิบเอกเกษมศักดิ์ โสภี นายสมหมาย ปรีชาเดช นายประสิทธิ์กระจ่ายพัฒน์ นายสนั่น เหลือรักษ์ นายสุธรรม ขันทองนายปรีชา เลาะฮิม นายสุนทร สายศรีนวล นางสาววิไลลักษณ์เครือนาคพันธ์ นายประเสริฐ สะและวงศ์ นายวินัย อ้นสุวรรณนางละมูล มูซอ และนายสมชาย มิตรอารีย์ เป็นกรรมการมัสยิดและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรียังได้แต่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบิหลั่นของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ต่อมาคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีถอดถอนคอเต็บของมัสยิดและให้ผู้ดำรงตำแหน่งอีหม่าม รักษาการในตำแหน่งคอเต็บต่อไปอีกตำแหน่งหนึ่งในระหว่างรอเลือกตั้งคอเต็บคนใหม่ วันที่ 15 มกราคม 2526คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีถอดถอนผู้ร้องที่ 2 จากตำแหน่งอีหม่าม และวันที่ 25 เดือนเดียวกันได้ถอดถอนกรรมการอื่นอีก 8 คน คือ นายสมหมาย ปรีชาเดช นายประสิทธิ์ กระจ่ายพัฒน์นายปรีชา เลาะฮีม นายสนั่น เหลือรักษ์ นายสุธรรม ขันทองนายสมชาย มิตรอารีย์ นางละมูล มูซอ และนางสาววิไลลักษ์เครือนาคพันธ์ ผู้ร้องที่ 2 และกรรมการอีก 6 คน คือนายสมหมายปรีชาเดช นายประสิทธิ์ กระจ่ายพัฒน์ นายปรีชา เลาะฮิมนางสาววิไลลักษ์ เครือนาคพันธ์ นางละมูล มูซอ และนายสมชายมิตรอารีย์ อุทธรณ์ต่อประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยวันที่ 1 สิงหาคม 2526 คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้แก้ไขคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีที่ถอดถอนผู้ร้องที่ 2 และบุคคลทั้งหก โดยให้ผู้ร้องที่ 2 และบุคคลทั้งหกเข้าดำรงตำแหน่งตามเดิม วันที่ 26 มีนาคม 2529 ผู้คัดค้านที่ 1ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้แต่งตั้งนายหมุด เชาว์รูปดีกับพวกรวม 8 คน เป็นกรรมการมัสยิด ผู้ร้องที่ 1 เป็นการชั่วคราวอ้างว่า กรรมการอื่นนอกจากผู้คัดค้านที่ 1 พ้นตำแหน่งหมดแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งนายหมุด เชาว์รูปดี กับพวกรวม 8 คนเป็นกรรมการมัสยิดผู้ร้องที่ 1 เป็นการชั่วคราวจนกว่าคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีจะดำเนินการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้ร้องทั้งสองมีอำนาจยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แต่งตั้งนายหมุดเชาว์รูปดี กับพวกรวม 8 คน เป็นกรรมการมัสยิดผู้ร้องที่ 1ชั่วคราว กับให้ผู้ร้องที่ 2 นายสมหมาย ปรีชาเดชนายประสิทธิ์ กระจ่างพัฒน์ นายปรีชา เลาะฮิม นางสาววิไลลักษ์เครือนาคพันธ์ นางละมูล มูซอและนายสมชาย มิตรอารีย์ เป็นกรรมการรักษาการของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ต่อไปหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 8 บัญญัติว่าให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมัสยิด ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมมีความหมายว่า การแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมัสยิดเป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะมีคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมัสยิดตามมาตรา 8 นี้ ไม่มีบทบัญญัติใดของพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีอำนาจแก้ไขคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่างกับกรณีที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพิจารณาสอบสวนและสั่งลดโทษให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดออกจากตำแหน่งเพราะละเมิดจริยา ซึ่งเมื่อกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยย่อมมีอำนาจแก้ไขคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ตามข้อ 12 แห่งระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2484 ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีได้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 ถอดถอนผู้ร้องที่ 2 จากตำแหน่งอิหม่าม กับถอดถอนบุคคลทั้งหกจากตำแหน่งกรรมการของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 แล้ว แม้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะสั่งแก้ไขคำสั่งถอดถอนดังกล่าวและให้ผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกเข้าดำรงตำแหน่งตามเดิม ก็หามีผลให้ผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกเป็นกรรมการมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ไม่ อนึ่ง สำหรับผู้ร้องที่ 2ซึ่งรักษาการในตำแหน่งคอเต็บตามคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีด้วยนั้น เนื่องจากตามคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งอิหม่ามรักษาการในตำแหน่งคอเต็บ เมื่อผู้ร้องที่ 2 ถูกถอดถอนจากตำแหน่งอิหม่าม ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่มีฐานะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งคอเต็บตามคำสั่งดังกล่าว ผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกจึงมิใช่เป็นกรรมการของมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ตามคำร้อง ผู้ร้องที่ 2 และผู้ร้องที่ 1 โดยผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ ปัญหาตามฎีกาผู้ร้องทั้งสองอีกประการหนึ่งที่ว่ามีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นกับให้ผู้ร้องที่ 2 กับบุคคลทั้งหกเป็นกรรมการรักษาการมัสยิดผู้ร้องที่ 1 ต่อไปหรือไม่ไม่ต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน