คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 205/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินได้ตรวจสอบเขตตามที่เจ้าของที่ดินหรือตัวแทนนำชี้ และการออกโฉนดก็ได้ปฏิบัติตามระเบียบ เช่นนี้ ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสมควรแล้ว หากเขตเนื้อที่ในโฉนดไม่ถูกต้อง จะถือว่าเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินย่อมไม่ได้ ผู้ซื้อที่ดินมีโฉนดมาโดยสุจริตและจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์เพราะที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กรมที่ดินต้องรับผิด
อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ไม่ถูกต้องได้ ไม่ว่าเป็นโฉนดที่ออกมาก่อนหรือภายหลังวันใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดที่ ๓๘๕๗, ๓๘๕๘, ๓๘๕๙ จังหวัดชลบุรี โดยมีค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งที่ ๕๒๑๒/๒๕๐๓ ว่าเจ้าพนักงานได้ออกโฉนด ๓ รายนั้นทับที่ดินโฉนดที่ ๓๒๐๕ จึงให้เพิกถอนโฉนด ๓๘๕๗, ๓๘๕๘, ๓๘๕๙ กับรายการจดทะเบียนในที่ดินประเภทขายนั้นเสีย โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบ เพราะการออกโฉนดและโจทก์รับโอนโฉนดเป็นเวลาก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน และว่าที่ดินของโจทก์มิได้ทับที่ดินโฉนดที่ ๓๒๐๕ ถ้าทับก็เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งออกโฉนดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้แสดงว่าคำสั่งที่ ๕๒๑๒/๒๕๐๓ เป็นโมฆะ และให้เพิกถอนเสีย ถ้าโจทก์ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ ก็ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๓๐๐,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า กรมที่ดินได้ดำเนินการสอบสวนและพิจารณาได้ความแน่ชัดว่า โฉนดที่ดินที่โจทก์ฟ้องทับที่ดินโฉนดที่ ๓๒๐๕ จึงมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดทั้งสามนั้นเสีย อันเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และต่อสู้ว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อ
ศาลจังหวัดชลบุรีพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ฎีกาของโจทก์ข้อแรก ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกพยานเอกสารและพยานบุคคลขึ้นวินิจฉัยเห็นได้แจ่มแจ้งว่า ที่พิพาทอยู่ภายในเขตที่ดินโฉนดที่ ๓๒๐๕ ฎีกาของโจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งอันจะทำให้เห็นเป็นอย่างอื่น ส่วนการสอบเขตที่ดินเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบตามที่เจ้าของหรือตัวแทนของเจ้าของที่ดินนำชี้ ตลอดจนการออกโฉนดก็ได้ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสมควรแล้ว จะถือว่าเป็้นความผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ได้
๒. ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๑ ให้อำนาจอธิบดีกรมที่ดินที่จะสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ถูกต้องเสียได้ มาตรา ๖๑ นี้ มิได้จำกัดอำนาจไว้ว่าให้สั่งเพิกถอนได้เฉพาะโฉนดที่ออกภายหลังใช้ประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ฉะนั้น อธิบดีกรมที่ดินย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ไม่ถูกต้องได้ ไม่ว่าเป็นโฉนดที่ออกมาก่อนหรือภายหลังวันใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน และกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการสั่งย้อนหลัง เพราะเป็นการสั่งและบังเกิดผลให้โฉนดถูกเพิกถอนตั้งแต่มีคำสั่งนั่นเอง
๓. โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ซื้อมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ไม่อาจได้รับกรรมสิทธิ์ เพราะที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้จำเลยต้องรับผิดในกรณีเช่นนี้ โจทก์เองก็ไม่ได้อ้างอิงว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามบทกฎหมายใด
พิพากษายืน

Share