คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 722/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างว่าพินัยกรรมเกิดขึ้นโดยกลฉ้อฉล อาศัยความชราและสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ของผู้ตาย ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเป็นโมฆะ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ที่ 1 ผู้กล่าวอ้าง
ผู้ตายได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยาน ผู้พิมพ์ ผู้เขียน ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะ และกำจัดจำเลยไม่ให้ได้รับมรดกของนางลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 (4)
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นบุตรของนางลากับนายกอง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันห้าคนคือนางบุญล้น โจทก์ที่ 1 นายบรรเลง โจทก์ที่ 2 และจำเลย นางลาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2557 มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1625 อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อนางลาถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางลา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางลา ต่อมาจำเลยยื่นคำคัดค้านว่านางลาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินมรดกของนางลาซึ่งมีอยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลย ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนโจทก์ที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแทน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งถอนโจทก์ที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 มีภาระในการพิสูจน์ว่าพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างว่าเมื่อนางลาถึงแก่ความตาย ที่ดินโฉนดเลขที่ 1625 จึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทซึ่งรวมทั้งโจทก์ที่ 1 ด้วย แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางลาและศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยได้คัดค้านว่านางลาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวจนเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนโจทก์ที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแทน เมื่อโจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่เกิดขึ้นโดยกลฉ้อฉลอาศัยความชราและสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ของนางลาทั้งการทำพินัยกรรมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายตกเป็นโมฆะ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่ 1 ผู้กล่าวอ้างที่จะนำสืบให้เห็นว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นโมฆะ หาตกแก่จำเลยดังที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาแต่ประการใดไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 1 ต่อไปว่า พินัยกรรมเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ซื้อที่โฉนดเลขที่ 1625 จากนางบุญตา ในราคา 450,000 บาท เมื่อปี 2541 ซึ่งตามสารบัญจดทะเบียนเอกสารสำเนาโฉนดที่ดินระบุว่า โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ซึ่งในข้อนี้จำเลยนำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ซื้อ โจทก์ที่ 1 เบิกความกล่าวอ้างโดยมีหลักฐานสารบัญการจดทะเบียนการโอนตามสำเนาโฉนดดังกล่าวมาเป็นพยานเท่านั้น โจทก์ที่ 1 มิได้กล่าวอ้างผู้ขายมาเป็นพยาน กลับปรากฏจากคำเบิกความของนายบรรเลง นางบุญล้น ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ทั้งสองและจำเลยเบิกความยืนยันว่า จำเลยทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งเงินมาให้โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินให้นางลามารดาได้อยู่อาศัย ซึ่งสอดคล้องกับพยานเอกสารหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว แม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้ใช้หนังสือมอบอำนาจเพื่อโอนที่ดินเป็นชื่อของจำเลย แต่ในข้อนี้จำเลยนำสืบว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ยอมใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโดยอ้างว่ายุ่งยากในการใช้หนังสือมอบอำนาจ จึงโอนที่ดินมาเป็นชื่อของโจทก์ที่ 1 เอง หาได้ใช้หนังสือมอบอำนาจโอนที่ดินมาเป็นชื่อของจำเลยแต่ประการใดไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเอกสารซึ่งโจทก์ที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านจะเห็นได้ว่ามีข้อความติดต่อระหว่างเจ้าของที่ดินหรือผู้แทนของเจ้าของที่ดินที่จะขายที่ดินให้แก่จำเลยโดยขอให้จำเลยซึ่งทำงานอยู่ต่างประเทศทำเป็นหนังสือมอบอำนาจและยังระบุเลขบัญชีของธนาคารเพื่อให้จำเลยโอนเงินค่าที่ดินให้แก่ผู้ขาย นอกจากนั้นจำเลยนำสืบว่าเมื่อจำเลยทราบว่าโจทก์ที่ 1 โอนที่ดินมาเป็นชื่อของโจทก์ที่ 1 มิได้ใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงแจ้งให้โจทก์ที่ 1 โอนที่ดินใส่ชื่อของนางลาไว้แทนจำเลยซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ต่างประเทศ จึงสอดคล้องกับหนังสือสัญญาให้ที่ดินที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ระบุว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางลาซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่เจ้าของที่ดินโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นชื่อของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 เป็นเวลาประมาณ 1 ปี โจทก์ที่ 1 เบิกความว่าเหตุที่โจทก์ที่ 1 โอนที่ดินให้เป็นชื่อของนางลาเพราะสงสารนางลา นางลาจะได้มีที่ดินก่อนตาย เห็นว่าเหตุผลดังกล่าวรับฟังไม่ขึ้นเพราะไม่มีเหตุผลอันใดที่โจทก์ที่ 1 จำเป็นที่จะต้องโอนที่ดินให้มาเป็นชื่อของนางลาในขณะที่นางลาพักอยู่บนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวและมีอายุถึง 75 ปีแล้ว เชื่อว่าเหตุที่โจทก์ที่ 1 ต้องโอนที่ดินจากชื่อของตนเองให้เป็นชื่อของนางลาเนื่องจากจำเลยทวงถามขอให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินการให้เพราะจำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินด้วยเงินของจำเลย ทั้งเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของนางลาแล้ว โฉนดที่ดินดังกล่าวโจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้เก็บรักษาไว้ แต่นางลาเป็นผู้มอบโฉนดที่ดินให้แก่นางบุญล้นเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ซื้อแต่เป็นที่ดินที่จำเลยซื้อ ส่วนพินัยกรรมระบุวันทำพินัยกรรมคือวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 นางลาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียว พินัยกรรมดังกล่าวจัดทำขึ้นในวันเดียวกันกับวันที่โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินแก่นางลาตามสัญญาให้ที่ดิน และสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ 1625 เหตุที่ทำพินัยกรรมดังกล่าวในวันเดียวกันกับวันที่ได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินจากโจทก์ที่ 1 ให้แก่นางลาเพราะในวันที่มีการทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินยังอยู่ที่ต่างประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีปัญหาเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอีกประกอบกับนางลามีอายุถึง 75 ปีแล้ว จึงเชื่อว่านางลาต้องการทำพินัยกรรมในวันนั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าที่ดินดังกล่าวจะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย นายปริวัตร ทนายความเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า นายปริวัตรเป็นผู้จัดทำพินัยกรรมจริงโดยนายปริวัตรได้ลงชื่อในฐานะเป็นพยานและผู้เขียน จึงเท่ากับว่าพินัยกรรมได้จัดทำขึ้นโดยนายปริวัตรซึ่งเป็นทนายความ ส่วนพยานในพินัยกรรมคือนายอำนาจ สามีของโจทก์ที่ 1 นายอำนาจเบิกความรับว่าได้ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นพยานจริง แต่อ้างว่าไม่ได้อ่านข้อความในพินัยกรรม ทั้งขณะที่ลงลายมือชื่อก็ยังไม่มีลายมือชื่อของผู้อื่น ในข้อนี้เห็นว่าพินัยกรรมเป็นข้อความที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดระบุข้อความว่าเป็นพินัยกรรม ทั้งมีข้อความเพียง 11 บรรทัด นายอำนาจอ่านหนังสือได้ จึงไม่น่าเชื่อว่านายอำนาจจะลงลายมือชื่อเป็นพยานโดยไม่ได้อ่านข้อความหรือไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าหนังสือดังกล่าวเป็นพินัยกรรม นายอำนาจเป็นสามีของโจทก์ที่ 1 ย่อมที่จะต้องเบิกความสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของโจทก์ที่ 1 อยู่แล้ว เชื่อว่านายอำนาจลงลายมือชื่อเป็นพยานว่านางลาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่จำเลย หากจำเลยจะฉ้อฉลหรือทำพินัยกรรมปลอมขึ้นมาก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยจะให้นายอำนาจสามีโจทก์ที่ 1 ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม จำเลยสามารถหาบุคคลใดที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นพยานก็ทำได้ ขณะนั้นโจทก์ที่ 1 ก็ยินยอมโอนที่ดินดังกล่าวกลับคืนมาให้นางลาตามที่จำเลยบอกให้โอนจึงเชื่อว่านายอำนาจลงลายมือชื่อในฐานะพยานในพินัยกรรม โดยทราบข้อความในพินัยกรรมเป็นอย่างดี ส่วนนางปาริชาติ ซึ่งปรากฏลายมือชื่อเป็นพยาน แม้นางปาริชาติจะเบิกความว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของนางปาริชาติ แต่ลายมือชื่อมีส่วนคล้ายกับลายมือชื่อของตนและนางปาริชาติไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าวมาก่อน ในข้อนี้เห็นว่านางปาริชาติเบิกความเป็นพยานโจทก์ที่ 1 นางปาริชาติมาเบิกความหลังจากทำพินัยกรรมเป็นเวลานานถึง 16 ปี จึงอาจเบิกความจดจำคลาดเคลื่อน แต่นางปาริชาติก็ยอมรับว่าลายมือชื่อคล้ายกับลายมือชื่อของตน การจัดทำพินัยกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการโดยนายปริวัตรซึ่งเป็นทนายความ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่นายปริวัตรจะปลอมลายมือชื่อของนางปาริชาติ นายปริวัตรจะให้ผู้ใดที่อยู่ในขณะทำพินัยกรรมลงชื่อเป็นพยานก็ได้ จึงเชื่อว่านางปาริชาติได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าวด้วย โจทก์ที่ 1 ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ว่าพินัยกรรมดังกล่าวปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเป็นโมฆะ แต่โจทก์ที่ 1 ก็มิได้นำสืบให้เห็นเป็นดังที่โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้าง กลับปรากฏว่านางบุญล้นและนายบรรเลงซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 กับจำเลยเบิกความทำนองเดียวกันว่า หลังจากที่นางลาถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์ที่ 1 โทรศัพท์ไปหาพยานทั้งสองขอให้ลงลายมือชื่อในเอกสารที่โจทก์ที่ 1 จะไปยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดมรดกของนางลา แต่นางบุญล้นและนายบรรเลงต่างก็ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจำเลยเป็นผู้ซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ทั้งนางลาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้ว นางบุญล้นและนายบรรเลงจึงไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งสอดคล้องกับการที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกโดยมิได้อ้างนางบุญล้นและนายบรรเลงซึ่งเป็นทายาทไปเบิกความเป็นพยาน นางบุญล้นเบิกความว่านางลาเป็นผู้มอบโฉนดที่ดินพิพาทและพินัยกรรมให้แก่นางบุญล้นเป็นผู้เก็บไว้โดยนางลาบอกว่าให้มอบให้แก่จำเลยเมื่อเสร็จงานศพของนางลา นางบุญล้นจึงมอบโฉนดที่ดินและพินัยกรรมให้แก่จำเลยต่อหน้าพี่น้องทุกคนโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านรวมทั้งโจทก์ทั้งสอง พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานโจทก์ที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านางลาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยพินัยกรรมดังกล่าวนางลาได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานผู้พิมพ์ ผู้เขียนครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ พินัยกรรมดังกล่าวจึงมีผลบังคับตามกฎหมาย หาได้ตกเป็นโมฆะแต่ประการใดไม่ ฎีกาในข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนจำเลย

Share