คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5712/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ เว้นแต่ลูกจ้างกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (5) ทั้งนี้ เพื่อประสงค์จะคุ้มครองลูกจ้างมิให้ถูกเลิกจ้างระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ
จำเลยร่วมเป็นพนักงานป้อนข้อมูลของโจทก์และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมเพราะโจทก์ยุบแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปเพื่อใช้เป็นพื้นที่ขยายกำลังผลิตและว่าจ้างบุคคลภายนอกมาบริหารจัดการแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปที่จำเลยร่วมทำงานอยู่แทน เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของโจทก์เอง จำเลยร่วมเป็นเพียงพนักงานบันทึกข้อมูล เป็นลูกจ้างที่ไม่ต้องใช้ฝีมือหรือความรู้เชี่ยวชาญมาก ซึ่งโจทก์ก็เคยใช้วิธีการสับเปลี่ยนลูกจ้างป้อนข้อมูลลักษณะแบบเดียวกับจำเลยร่วมไปทำงานแผนกอื่นโดยไม่ต้องเลิกจ้างมาแล้ว การเลิกจ้างจำเลยร่วมจึงเป็นกรณีไม่มีความจำเป็นเพียงพอ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 50/2558 ลงวันที่ 8 เมษายน 2558
ระหว่างพิจารณาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เรียกนางนงลักษณ์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยและจำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 50/2558 ลงวันที่ 8 เมษายน 2558
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและนม นางนงลักษณ์ จำเลยร่วมเป็นลูกจ้างโจทก์เข้าทำงานวันที่ 3 ธันวาคม 2539 ตำแหน่งพนักงานป้อนข้อมูล ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 72.67 บาท วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมโดยอ้างว่ามีการปรับลดพื้นที่คลังสินค้าต้องลดจำนวนพนักงานลง โดยขณะเลิกจ้างจำเลยร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 โจทก์โอนเงินสิทธิประโยชน์ในการเลิกจ้างให้จำเลยร่วมเป็นเงิน 334,177.54 บาท ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2558 จำเลยร่วมยื่นคำร้องต่อจำเลยว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมโดยเลิกจ้างจำเลยร่วมในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ขอให้รับจำเลยร่วมกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน วันที่ 8 เมษายน 2558 จำเลยวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมเนื่องจากมีการยุบแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปลงเพื่อใช้เป็นพื้นที่ขยายกำลังการผลิตและว่าจ้างบุคคลภายนอกมาบริหารจัดการงานเดิมของแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปแทน เป็นกรณีที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงฝ่ายเดียว เป็นการเลิกจ้างโดยจำเลยร่วมมิได้กระทำผิดอันเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 (1) ถึง (5) เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้โจทก์รับจำเลยร่วมกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าเดิมและจ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยร่วมตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 50/2558 แล้ววินิจฉัยว่า นอกจากข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 (1) ถึง (5) แล้ว หากนายจ้างมีเหตุผลที่จะเป็นต้องเลิกจ้างไม่ว่าเหตุทางฝ่ายนายจ้างหรือทางฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างย่อมเลิกจ้างลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องได้ โจทก์เปลี่ยนแปลงหน่วยงานในองค์กรเพื่อความเหมาะสมแห่งการดำเนินธุรกิจการค้า และเมื่อประเมินผลงานแล้ว พนักงานคนอื่นที่ผ่านการคัดเลือกมีความรู้ความสามารถมากกว่าจำเลยร่วมโดยจำเลยร่วมไม่ได้โต้แย้งผลการประเมินและไม่ปรากฏว่าโจทก์กลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติ นับว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรในการเลิกจ้าง จึงให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยดังกล่าว
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยหรือไม่ โจทก์อ้างว่าการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วม เพราะโจทก์มีความจำเป็นต้องยุบแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปที่จำเลยร่วมทำงานอยู่เพื่อใช้พื้นที่ในการขยายกำลังการผลิต และว่าจ้างบุคคลภายนอกมาบริหารจัดการแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปแทน มิได้กลั่นแกล้งจำเลยร่วม ทั้งการเลิกจ้างก็ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ประเมินผลงาน มิได้เจาะจงเลิกจ้างลูกจ้างคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรม พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้บัญญัติห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ เว้นแต่ลูกจ้างกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ทั้งนี้เพื่อประสงค์จะคุ้มครองลูกจ้างมิให้ถูกเลิกจ้างระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังได้ความว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วม โดยจำเลยร่วมมิได้กระทำความผิดใด แต่เหตุที่เลิกจ้างเพราะโจทก์ต้องการใช้พื้นที่เพื่อขยายกำลังการผลิต และว่าจ้างบุคคลภายนอกมาบริหารจัดการแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปที่จำเลยร่วมทำงานอยู่แทน ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่ากิจการของโจทก์ประสบภาวะการขาดทุนอย่างใด ตรงกันข้ามกลับได้ความว่าโจทก์ขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด การดำเนินการต่าง ๆ จนกระทั่งเลิกจ้างจำเลยร่วมก็เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของโจทก์เอง จำเลยร่วมเป็นพนักงานป้อนข้อมูล แม้จะทำงานมาตั้งแต่ปี 2539 จนถึงวันถูกเลิกจ้างเป็นเวลาถึงประมาณ 18 ปี แต่ก็ได้รับค่าจ้างเพียงชั่วโมงละ 72.67 บาท หรือ 581.36 บาทต่อวัน คิดเป็นค่าจ้างเดือนละ 15,115.36 บาทเท่านั้น และเมื่อตรวจดูขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ ก็ปรากฏว่าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นการบันทึกข้อมูลและจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเท่านั้น ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยร่วมเป็นลูกจ้างที่ไม่ต้องใช้ฝีมือหรือความรู้ความเชี่ยวชาญมากนัก สามารถย้ายสับเปลี่ยนไปทำงานแผนกอื่นได้โดยไม่ต้องเลิกจ้าง ซึ่งก็ปรากฏข้อเท็จจริงยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันว่าก่อนมีการปรับยุบแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปมีการโยกย้ายพนักงานป้อนข้อมูลไปปฏิบัติหน้าที่อื่นแทนอันแสดงว่าโจทก์สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ ดังนี้การเลิกจ้างจำเลยร่วม จึงยังไม่มีความจำเป็นเพียงพอ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมฟังขึ้น อุทธรณ์อื่นของจำเลยร่วมไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share