คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2603/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทผู้เป็นนายจ้างแม้จะยื่นในระหว่างที่ยังใช้ข้อบังคับเดิมที่ตกลงกันก็ถือได้ว่าได้มีการยื่นข้อเรียกร้องแล้ว บริษัทนายจ้างจึงต้องห้ามมิให้เลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุที่ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 การเลิกจ้างจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบคนซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งชี้ขาดว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรม ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 โดยเลิกจ้างโจทก์สำนวนที่ 2 ทั้ง 3 คน เพราะเหตุที่ลูกจ้างเหล่านั้นยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2522 ให้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงการจ้าง และมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายฯ คำชี้ขาดและคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มิได้เลิกจ้างเพราะเหตุยื่นข้อเรียกร้อง แต่เลิกจ้างเพราะบุคคลเหล่านั้นไม่ได้ปฏิบัติงานให้โจทก์อย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ บุคคลทั้งสามมิได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ แต่ได้ร่วมกับบุคคลอื่นยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทอื่นซึ่งมิใช่โจทก์ ทั้งข้อเรียกร้องนั้นมิใช่ข้อเรียกร้องตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่ามีการยื่นข้อเรียกร้องอย่างไรก็ตาม ลูกจ้างทั้งสามได้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(5) โดยยุยงส่งเสริมชักชวนให้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งตกลงกันเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม2520 และยังมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์จึงเลิกจ้างได้โดยไม่ถือว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรม ฯลฯ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว

จำเลยทั้งสิบให้การว่า คำสั่งดังกล่าวชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม เพราะเหตุที่จำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรม เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะเคยกระทำความผิดมาก่อน และทำงานไม่เป็นที่พอใจ มิได้เลิกจ้างเพราะยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยทั้งข้อเรียกร้องของโจทก์มิใช่ข้อเรียกร้องตามกฎหมาย จึงไม่ถือว่าเป็นข้อเรียกร้อง และไม่ถือว่าจำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ยื่นข้อเรียกร้อง โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับความเสียหาย คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายไม่ชอบ และจำเลยมิได้ผิดนัด ไม่ต้องชำระดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีแรก ส่วนคดีหลังพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสามตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย

โจทก์ในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนหลังอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่ลูกจ้างทั้งสามยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ ผู้เป็นนายจ้างนั้น แม้จะยื่นในระหว่างที่ยังใช้ข้อบังคับเดิมที่ตกลงกัน ก็ถือได้ว่าได้มีการยื่นข้อเรียกร้องแล้ว บริษัทฯ จึงต้องห้ามมิให้เลิกจ้างลูกจ้างทั้งสามนั้น เพราะเหตุที่ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 การเลิกจ้างนั้นจึงไม่ชอบ

พิพากษายืน

Share