แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หลังจากศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลยเนื่องจากต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาและพิพากษาคดีที่ผิดระเบียบในชั้นฎีกาทั้งหมดมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยอ้างเหตุเพิกถอนเป็นประเด็นในคดีว่าเกิดจากความผิดพลาดของศาลชั้นต้นที่สั่งรับฎีกาของจำเลยโดยวินิจฉัยว่ากรณีไม่จำต้องรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ทั้งที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงไว้แล้ว ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีดังกล่าวไปแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบอีก โดยอ้างเหตุเพิกถอนเป็นประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบครั้งแรก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน 619,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่มีคำพิพากษาไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน 359,492 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระให้โจทก์ทั้งสี่เสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเจดีย์บรรจุอัฐิจำนวน 2,500 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ แต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่จำเป็นต้องให้รับรองยกคำร้อง และสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 แต่ละคนดังกล่าวนั้นเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ เนื่องจากการตายของนางภาริณีผู้ตายมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2541 ว่าการที่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่จำเป็นต้องให้รับรอง และสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง จึงมิได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาอื่นที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองให้ฎีกา ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่ากรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ไม่จำเป็นต้องรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาก่อนทำคำพิพากษาแต่จำเลยที่ 2 ก็หาดำเนินการแต่อย่างใดให้ถูกต้องไม่ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาและพิพากษาคดีในชั้นฎีกาทั้งหมดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ตามที่จำเลยที่ 2 อ้างหาได้ไม่ เพราะล่วงพ้นเวลาที่ศาลฎีกาจะพิจารณาดำเนินการในเรื่องคำร้องนั้นอีก ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542ขอให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 อีกครั้ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบมาแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2541ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่ขอแล้วเมื่อวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2542 (วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกา) การที่จำเลยที่ 2ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามคำร้องฉบับนี้อีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2ว่า การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ เห็นว่า หลังจากศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2เนื่องจากต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2541 ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาและพิพากษาคดีที่ผิดระเบียบในชั้นฎีกาทั้งหมดมาครั้งหนึ่งแล้วโดยอ้างเหตุเพิกถอนเป็นประเด็นในคดีว่า เกิดจากความผิดพลาดของศาลชั้นต้นที่สั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยว่ากรณีไม่จำต้องรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ทั้งที่จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงไว้แล้วซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีดังกล่าวไปแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบอีกโดยอ้างเหตุเพิกถอนเป็นประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบครั้งแรก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน