คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7199/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเขียนเองระบุว่า เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วบ้านและที่ดินพิพาทนั้น เจ้ามรดกขอยกให้สิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่จำเลยมีอำนาจครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต แต่ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายลงเมื่อใดแล้ว ให้บ้านและที่ดินดังกล่าวนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจาก ฉ. ทุกคน โดยให้บุตรของ ฉ. ทุกคนมีส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวนี้เท่ากัน ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เพียงแต่ให้สิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินตลอดชีวิตแก่จำเลยเท่านั้น สิทธิของจำเลยในฐานะผู้รับพินัยกรรมก็มีเพียงตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทจะต้องตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ฉ. เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายแล้วตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมระบุให้พินัยกรรมมีผลบังคับให้เรียกร้องกันได้ภายหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 ประกอบมาตรา 1674 วรรคสอง จึงต้องถือว่านับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและข้อกำหนดในพินัยกรรมเฉพาะส่วนของจำเลยมีผลนั้นก็มีผลเพียงให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินพิพาทจนตลอดชีวิตของจำเลยเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นยังไม่สำเร็จเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ทั้งนี้เพราะมาตรา 1755 รับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกเท่านั้น
จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับมรดกบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตน เนื่องจากบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เพียงแต่เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้บ้านและที่ดินพิพาทตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามยังไม่สำเร็จเพราะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น บ้านและที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายฉัตรชัย นายฉัตรชัยเป็นบุตรของนางแฉล้ม เจ้ามรดก เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2519 นางแฉล้มทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 106/6 ซอยมหาดไทย 1 ถนนลาดพร้าว พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 29172 ตำบลวังทองหลาง (คลองจั่น) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินตลอดชีวิต แต่ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายเมื่อใดให้บ้านและที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจากนายฉัตรชัยเท่ากันทุกคนนับแต่นางแฉล้มถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามและจำเลยได้ร่วมกันครอบครองอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวตลอดมาโดยจำเลยครอบครองแทนโจทก์ทั้งสาม วันที่ 2 มกราคม 2524 จำเลยบอกนายฉัตรชัยและนายชื่นฉันท์ บุตรของนางแฉล้มว่าจะไปขอรับมรดกในส่วนของเงินฝากซึ่งอยู่ในธนาคารตามที่นางแฉล้มได้ทำพินัยกรรมระบุไว้ในข้อ 2 ว่ายกให้จำเลยนายฉัตรชัยและนายชื่นฉันท์จึงทำหนังสือสละมรดกมอบให้จำเลยเพื่อนำไปยื่นต่อธนาคาร ในวันเดียวกันนั้นจำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 29172 พร้อมบ้านเลขที่ 106/6 ในฐานะทายาทโดยธรรมโดยอ้างว่าเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรม เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ทั้งสามได้ไปขอตรวจสอบโฉนดที่ดินจึงทราบเรื่องราวดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านเลขที่ 106/6 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นเลขที่ 38 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 29172 ซอยมหาดไทย 1 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร จากที่มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้กลับสู่สภาพเดิม หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ครอบครองบ้านและที่ดินตามฟ้องแทนโจทก์ทั้งสาม ภายหลังนางแฉล้มมารดาจำเลยซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกบ้านและที่ดินดังกล่าวมาเป็นของตนเองโดยนายฉัตรชัยและนายชื่นฉันท์ซึ่งเป็นพี่น้องของจำเลยได้สละมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมโดยความสมัครใจมิใช่จำเลยหลอกลวงให้นายฉัตรชัยและนายชื่นฉันท์สละมรดก โจทก์ทั้งสามได้เข้ามาพักอาศัยในบ้านและที่ดินพิพาทในฐานะผู้อาศัยโดยโจทก์ที่ 1 ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในบ้านดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2536 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ที่ 1 อายุ 25 ปี สำหรับโจทก์ที่ 2 ได้แจ้งย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2540 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ที่ 2 มีอายุ 27 ปี ส่วนโจทก์ที่ 3 ได้แจ้งย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2533 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ที่ 3 มีอายุ 17 ปี นับแต่นางแฉล้มเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2523 จำเลยได้เข้าครอบครองและเข้าอาศัยในบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าวในฐานะเป็นเจ้าของตลอดมา โดยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทในฐานะทายาทโดยธรรม ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของนางแฉล้มเจ้ามรดกมาเป็นชื่อจำเลยตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2524 และจำเลยได้แจ้งย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2528 และได้ครอบครองอยู่อาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวในฐานะเจ้าของมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกบ้านและที่ดินดังกล่าวในฐานะทายาทโดยพินัยกรรมของนางแฉล้มเจ้ามรดกภายหลังจากที่นางแฉล้มถึงแก่ความตายเกินกว่า 10 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนการโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 29172 ตำบลวังทองหลาง (คลองจั่น) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมบ้านเลขที่ 38 (106/6) ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นชื่อนางแฉล้ม หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 7,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า นางแฉล้มเจ้ามรดกมีบุตรสามคน คือ นายฉัตรชัย นายชื่นฉันท์ และจำเลย ส่วนโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของนายฉัตรชัย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2519 นางแฉล้มได้ทำพินัยกรรมแบบเขียนด้วยมือตนเองทั้งฉบับไว้ตามหนังสือพินัยกรรมเขียนเอง เอกสารหมาย จ.3 มีข้อความแสดงเจตนาเผื่อตายว่า เมื่อนางแฉล้มถึงแก่ความตายแล้ว ให้บรรดาทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วหรือที่จะเกิดมีขึ้นอีกในภายหน้าตกทอดได้แก่บุคคลต่าง ๆ โดยมีสาระสำคัญอยู่ในพินัยกรรม ข้อ 1 และ ข้อ 2 ซึ่งมีข้อความดังนี้
“ข้อ 1. บ้านเลขที่ 106/6 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดหมายเลขที่ 29172 และเลขที่ดิน 1543 ในซอยมหาดไทย 1 ถนนลาดพร้าว ตำบลวังทองหลาง (คลองจั่น) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 100 ตารางวา นั้น เมื่อข้าพเจ้าตายแล้ว ขอยกทั้งตัวบ้านและที่ดินดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้ ให้สิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่นางชูโฉม ให้มีอำนาจเข้าครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิตของนางชูโฉม แต่ถ้านางชูโฉมได้ถึงแก่ความตายลงเมื่อใดแล้วต้องให้บ้านและที่ดินที่กล่าวนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่ลูกที่เกิดจากนายฉัตรชัย ซึ่งเป็นบุตรชายของข้าพเจ้านั้น ถ้านายฉัตรชัย มีลูกกี่คนก็ตามก็ให้ได้รับกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินที่กล่าวนี้ร่วมกันทุก ๆ คน โดยมีส่วนกรรมสิทธิ์เท่ากันทุกคนด้วย
ข้อ 2. เงินของข้าพเจ้าที่มีอยู่ในธนาคารทั้งสิ้น ซึ่งข้าพเจ้าได้ให้เป็นสินส่วนตัวแก่นางชูโฉม ไว้ใช้สอยเพียงตลอดเวลาที่นางชูโฉม ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ถ้านางชูโฉมตายก่อนข้าพเจ้าเมื่อใด ต้องให้เงินที่ข้าพเจ้าได้ให้ไว้เป็นสินส่วนตัวแก่นางชูโฉม นั้น กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของข้าพเจ้าทันที ถ้าหากข้าพเจ้าตายก่อนแล้วนางชูโฉม ตายลงภายหลังและถ้าเงินสินส่วนตัวที่ข้างพเจ้าให้ไว้นั้นยังใช้สอยไม่หมด ยังมีเหลืออยู่เท่าใดก็ต้องให้เงินสินส่วนตัวที่เหลืออยู่นั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่หลานของข้าพเจ้าซึ่งเป็นลูกที่เกิดจากบุตรชายของข้าพเจ้าคือ ลูกของนายฉัตรชัย ทุกคนกับลูกของนายชื่นฉันท์ ทุกคน ซึ่งจะมีทั้งหมดกี่คนก็ตามให้ได้รับกรรมสิทธิ์เงินที่ข้าพเจ้าได้ให้เป็นสินส่วนตัวแก่นางชูโฉม ที่เหลืออยู่ในธนาคาร เมื่อนางชูโฉม ตายแล้วนั้นนำมาแบ่งเฉลี่ยให้หลานของข้าพเจ้าเท่า ๆ กันทุกคนด้วย ตามที่ข้าพเจ้าได้มีบันทึกเงื่อนไขต่อท้ายบัญชีเงินฝากแนบติดไว้ ซึ่งได้มอบให้ผู้จัดการธนาคารที่รับฝากเงินนั้นเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานด้วยแล้ว”
หลังจากที่นางแฉล้มเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยได้นำหนังสือบอกสละมรดกของนายฉัตรชัยและนายชื่นฉันท์ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมเป็นของจำเลย และได้ความตามถ้อยคำสำนวนในคดีด้วยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่า บ้านและที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือของจำเลย และคดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่ และศาลชั้นต้นได้พิจารณาและวินิจฉัยคดีตามประเด็นพิพาทที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นว่า ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมจำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตน และจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสาม จำเลยไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นยันโจทก์ทั้งสามได้ จึงพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายชนะคดี แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ทั้งสามมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องตามข้อกำหนดในพินัยกรรมโดยปล่อยเวลาให้ล่วงพ้นไปนับแต่นางแฉล้มถึงแก่ความตายเกิน 10 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 จำเลยเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมยกอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเขียนเองเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1. มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า เมื่อนางแฉล้มเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วบ้านและที่ดินพิพาทคือบ้านเลขที่ 106/6 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 29172 เลขที่ดิน 1543 ซอยมหาดไทย 1 ถนนลาดพร้าว ตำบลวังทองหลาง (คลองจั่น) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 100 ตารางวา นั้น เจ้ามรดกขอยกให้สิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่จำเลยมีอำนาจครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต แต่ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายลงเมื่อใดแล้ว ให้บ้านและที่ดินดังกล่าวนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจากนายฉัตรชัยทุกคน โดยให้บุตรของนายฉัตรชัยทุกคนมีส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวนี้เท่ากัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เพียงแต่ให้สิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินตลอดชีวิตแก่จำเลยเท่านั้น โดยเหตุนี้เมื่อนางแฉล้มผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย สิทธิของจำเลยในฐานะผู้รับพินัยกรรมซึ่งเกิดมีขึ้นตามกฎหมายก็มีเพียงตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมว่าให้จำเลยมีเพียงสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินพิพาทได้ตลอดชีวิตเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทจะต้องตกทอดได้ตลอดชีวิตเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิในบ้านและที่ดินพิพาทจะต้องตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของนายฉัตรชัยเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายแล้วตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่นางแฉล้มผู้ทำพินัยกรรมระบุให้พินัยกรรมมีผลบังคับให้เรียกร้องกันได้ภายหลัง ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 ประกอบมาตรา 1674 วรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่านับแต่นางแฉล้มเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและข้อกำหนดในพินัยกรรมเฉพาะส่วนของจำเลยมีผลนั้นก็มีผลเพียงให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินพิพาทจนตลอดชีวิตของจำเลยเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นยังไม่สำเร็จเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ทั้งนี้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 รับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกเท่านั้น จำเลยครอบครองบ้านและที่ดินทรัพย์มรดกแทนโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ที่จำเลยอ้างว่า คดีของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความฟังไม่ขึ้น เมื่อผลแห่งการวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอายุความเป็นดังนี้ คดีจึงมีประเด็นพิพาทตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมาว่า บ้านและที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือของจำเลยซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยมา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน โดยประเด็นข้อนี้ เห็นว่า ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่านายฉัตรชัยและนายชื่อฉันท์ต่างเต็มใจและสมัครใจไม่ขอรับมรดกอันเป็นการสละมรดกและไม่คัดค้านการยื่นขอรับมรดกของจำเลยหรือไม่ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับรองมรดกบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตนได้ เนื่องจากบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่นางแฉล้มเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้วเพียงแต่เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้บ้านและที่ดินพิพาทตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามยังไม่สำเร็จเพราะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น บ้านและที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620 ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share