คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7219/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นจำเลยขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ โดยยกข้ออ้างว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนคดีนี้แม้โจทก์จะนำหนี้ภาษีอากรค้างในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้รับผิด แต่คำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างว่า หนี้ภาษีอากรค้างที่จำเลยเป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ในคดีดังกล่าวนั้น จำเลยมิได้ชำระแก่โจทก์โดยครบถ้วน โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้วจำเลยเพิกเฉย กลับจดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยทราบอยู่แล้วว่ายังเป็นหนี้ภาษีอากรต่อโจทก์ เป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เกิดขึ้นใหม่จากการไม่ยอมชำระหนี้ของจำเลย และเป็นเรื่องที่จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ภายหลังคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางคดีก่อนอันถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 จำเลยไม่อาจรื้อฟื้นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีดังกล่าวได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2537 จำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2537 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จังหวัดนราธิวาสโดยแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มว่ามีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายและขอคืนจำนวน 1,452,747.79 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้คืนภาษีให้แก่จำเลยตามที่ขอและได้ทำการวิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2537 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ของจำเลยแล้วปรากฏว่ารอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2537 จำเลยมีกำไรต่ำ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ากำไร จึงเป็นกรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และเป็นกรณีจำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร จึงดำเนินการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีของจำเลยสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2537 ตามระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบภายหลังคืนภาษี โดยได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบจากสรรพากรภาคที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ทำการตรวจสอบภาษีซื้อและภาษีขายของเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2537 ปรากฏว่าจำเลยขายไม้แปรรูปต่ำกว่าราคาประเมินตามราคาเฉลี่ยของประกาศอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อเป็นเกณฑ์ประเมินอากรขาเข้า ราคาที่จำเลยขายดังกล่าวถือว่าเป็นการขายราคาต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) และ 79/3 (1) เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของโจทก์จึงประเมินราคาขายไม้แปรรูปของจำเลยให้เท่ากับราคาตลาด ณ วันที่ความรับผิดเกิดขึ้น โดยใช้ราคาประเมินตามประกาศอธิบดีกรมศุลกากรบวกด้วยอากรขาเข้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79/2 (1) ซึ่งต่อมากรมสรรพากรได้มีหนังสือที่ กค. 0814/ว.00986 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำหนดฐานภาษีดังกล่าว ปรากฏว่าเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2537 จำเลยมีรายได้จากการขายไม้แปรรูป โดยมีรายรับตามที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม 26,538,072.66 บาท มีรายรับจากการตรวจสอบได้ 49,914,749.88 บาท ดังนั้นมีผลต่างที่ขาด 23,376,677.22 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงนำยอดรายรับแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจสอบดังกล่าวมาทำการปรับปรุงภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระให้โจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89/1 และ 89 (4) รวมเป็นเงิน 2,997,434.54 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้เรียกกรรมการผู้จัดการจำเลยมารับทราบผลการตรวจสอบโดยได้ชี้แจ้งข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบ ข้อกฎหมายที่ใช้ในการประเมินให้จำเลยต้องชำระภาษีเพิ่มเติม ข้อพิจารณา ข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจประเมินภาษีจำเลยโดยละเอียด กรรมการผู้จัดการของจำเลยทราบคำชี้แจ้งโดยละเอียดแล้ว ยินยอมชำระภาษีตามผลการตรวจสอบ แต่ได้ยื่นคำร้องขอลดเบี้ยปรับตามฐานภาษีที่ได้จากการตรวจสอบ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีของจำเลยมีเหตุอันควรลดเบี้ยปรับ จึงลดเบี้ยปรับให้จำเลย คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายและแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบ รวมเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่ต้องชำระ 1,890,792 บาท จำเลยได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินสำหรับประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยขอให้ยกเลิกการประเมิน งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว จึงให้ยกอุทธรณ์ภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยเสียทั้งสิ้นและได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยทราบแล้ว การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามคำฟ้องจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่จำเลยมิได้นำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มมาชำระ กลับจดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี โดยทราบว่ายังเป็นหนี้ภาษีอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ยึดเงินฝากของจำเลย 1,090.81 บาท มาชำระหนี้ภาษีที่ค้างชำระคงเหลือหนี้ที่ค้างชำระถึงวันฟ้อง 1,826,253.19 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน 1,826,253.19 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้โดยถูกต้องและชำระภาษีครบถ้วนแล้ว รายได้จากการขายไม้ราคาขาย และราคาซื้อเป็นไปตามการซื้อขายในราคาท้องตลาดจำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน โดยมูลค่าการขายไม้แต่ละเดือนเมื่อคำนวณภาษีขายตามราคาท้องตลาดขายส่งคิดจากฐานต้นทุนราคาไม้หักด้วยภาษีซื้อแล้ว จึงไม่มีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมแต่อย่างใด ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยเคยฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 146/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 102/2546 ระหว่างบริษัทศิริอนันต์เจริญค้าไม้ จำกัด โจทก์นายประสิทธิ์ บัวดวง ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์) จำเลย ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ นอกจากนี้หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์อันสืบเนื่องมาจากคดีนี้ไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ ซึ่งขัดต่อมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า จำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2537 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ แสดงว่าภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย และขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,452,747.79 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวให้แก่จำเลย ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ทำการตรวจสอบภาษีซื้อและภาษีขายของเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2537 ปรากฏว่า จำเลยขายไม้แปรรูปต่ำกว่าราคาประเมินตามราคาเฉลี่ยของประกาศอธิบดีกรมศุลกากรเพื่อเป็นเกณฑ์ประเมินอากรขาเข้า โจทก์จึงถือว่าเป็นราคาขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) และ 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานตรวจสอบภาษีของโจทก์จึงประเมินราคาขายไม้แปรรูปของจำเลยให้เท่ากับราคาตลาด ณ วันที่ความรับผิดเกิดขึ้น โดยใช้ราคาประเมินตามประกาศอธิบดีกรมศุลกากรบวกด้วยอากรขาเข้าตามมาตรา 79/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากรและนำยอดรายรับแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจสอบดังกล่าวมาทำการปรับปรุงภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระตามมาตรา 89/1 และ 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 2,997,434.54 บาท จำเลยได้ยื่นคำร้องขอลดเบี้ยปรับตามฐานภาษีที่ได้จากการตรวจสอบดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้พิจารณาลดเบี้ยปรับให้จำเลย คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย และแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้จำเลยต้องชำระสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2537 รวม 1,890,792 บาท จำเลยอุทธรณ์คัดค้านการประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า การประเมินถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว จึงให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย และได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยทราบ จำเลยอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 146/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 102/2546 ระหว่างบริษัทศิริอนันต์เจริญค้าไม้ จำกัด โจทก์ นายประสิทธิ์ ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์) จำเลย ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่ชำระค่าภาษีอากรดังกล่าว ต่อมาโจทก์อายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย 1,090.81 บาท เพื่อการหักชำระภาษี คงเหลือเงินที่จำเลยต้องชำระ 1,826,253.19 บาท โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางคดีหมายเลขดำที่ 146/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 102/2546 หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า คดีก่อนอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวเป็นคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นจำเลยขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ จำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นประเด็นที่ศาลภาษีอากรกลางในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ 146/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 102/2546 ของศาลภาษีอากรกลาง ส่วนคดีนี้แม้โจทก์จะนำหนี้ภาษีอากรค้างในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้รับผิด แต่คำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า หนี้ภาษีอากรค้างที่จำเลยเป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ในคดีดังกล่าวนั้น จำเลยมิได้ชำระแก่โจทก์โดยครบถ้วน โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้วจำเลยเพิกเฉย กลับจดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยทราบอยู่แล้วว่ายังเป็นหนี้ภาษีอากรต่อโจทก์ เป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เกิดขึ้นใหม่จากการไม่ยอมชำระหนี้ของจำเลย และเป็นเรื่องที่จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ภายหลังคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาชอบแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 146/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 102/2546 ของศาลภาษีอากรกลาง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับประเด็นข้อพิพาทอื่น ๆ ตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยล้วนเป็นข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งสิ้นซึ่งคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางอันถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 จำเลยจึงไม่อาจรื้อฟื้นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวได้อีก เมื่อคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยล้วนเป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งสิ้น การที่จำเลยไม่มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นแห่งคดีที่จำเลยจะโต้เถียงให้ฟังแปรเปลี่ยนไปเป็นประการอื่นได้ กรณีไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่วินิจฉัยให้”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน 1,826,253.19 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยไม่กำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลให้

Share