คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการจังหวัดอื่นซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้แต่งตั้งขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะเรื่อง โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2478 มาตรา 20(1) ได้ยื่นฟ้องจำเลยหาว่ากระทำผิดในทางอาญา ไว้ต่อศาลท้องที่ที่เกิดเหตุแล้วอัยการประจำศาลนั้น จะยื่นฟ้องจำเลยคนนี้ในความผิดฐานเดียวกันซ้ำขึ้นอีกไม่ได้ เพราะโจทก์ในคดีก่อนและคดีที่ฟ้องใหม่ก็เป็นอัยการด้วยกัน จึงต้องถือว่าเป็นโจทก์คนเดียวกัน
แม้ศาลฎีกาตัดสินไม่รับฟ้องยืนตามศาลล่างเพราะเป็นกรณีที่โจทก์ยื่นฟ้องซ้ำเข้ามาอีก ศาลฎีกาก็คงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ไม่ได้รับสำเนาฎีกา

ย่อยาว

คดีนี้อัยการจังหวัดกระบี่ เป็นโจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคฯ พระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว ฯลฯ พระราชบัญญัติศุลกากรฯ กฎหมายลักษณะอาญา แต่ศาลจังหวัดกระบี่ไม่รับประทับฟ้อง โดยปรากฏว่า คดีเดียวกันนี้อัยการได้ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดกระบี่ซึ่งศาลนั้นได้รับฟ้องและนัดพิจารณาไว้สำนวนหนึ่งแล้ว คือคดีดำที่ 94/2489 แต่พนักงานอัยการผู้ดำเนินคดีที่กล่าวนี้ เป็นอัยการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้แต่งตั้งขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะเรื่องโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2478 มาตรา 20(1) อัยการจังหวัดกระบี่ เห็นว่าแม้พนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และได้ฟ้องไปแล้ว โดยอาศัยอำนาจที่อธิบดีกรมอัยการแต่งตั้งก็ดี ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิของอัยการจังหวัดกระบี่ ที่จะฟ้องขึ้นอีกสำนวนหนึ่งต่างหาก เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดกระบี่ จะถือว่าการฟ้องคดีโดยอัยการจังหวัดกระบี่เป็นการฟ้องซ้อนหรือซ้ำกับคดีที่อัยการกาญจนบุรีเป็นโจทก์ไม่ได้ เพราะเป็นการฟ้องโดยอัยการคนละคนซึ่งต่างมีอำนาจฟ้องด้วยกัน

ศาลจังหวัดกระบี่สั่งว่า “เรื่องนี้อัยการได้ฟ้องจำเลยคนเดียวกัน และข้อหาอย่างเดียวกันทุกประการไว้ก่อนแล้วดังคดีดำที่ 94/2489 ดังนั้นอัยการซึ่งเป็นทนายแผ่นดินหรือคน ๆ เดียวกันจะฟ้องจำเลยซ้ำอีกไม่ได้ จึงไม่ประทับฟ้องตามวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161”

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในคดีนี้อัยการได้ฟ้องไว้แล้วตามสำนวนคดีดำที่ 94/2489 ของศาลจังหวัดกระบี่ ฉะนั้นอัยการจะฟ้องคดีนี้ซ้ำอีกไม่ได้ ข้อที่โจทก์ว่า พนักงานอัยการผู้ดำเนินคดีก่อนกับคดีนี้เป็นคนละคน จึงต้องถือว่ามีโจทก์ต่างกันนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะโจทก์ในคดีก่อนกับคดีนี้ก็คืออัยการนั่นเอง จึงต้องถือว่าเป็นโจทก์คนเดียวกัน เป็นแต่ต่างตัวพนักงานอัยการผู้เป็นทนายแผ่นดินเท่านั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีไว้สำนวนหนึ่งแล้ว จะฟ้องคดีเดียวกันนั้นอีกสำนวนหนึ่งไม่ได้ฉันใด เรื่องนี้ฉันนั้น จึงพิพากษายืน

Share