คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7465/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 โดยไม่มีการชี้สองสถาน การที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การจึงอาจทำได้ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่การที่จำเลยที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การเป็นว่า สัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง จึงไม่มีมูลหนี้และตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปัญหาที่ว่านิติกรรมใดเป็นโมฆะหรือไม่ ถือเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในเรื่องดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 แม้เป็นการยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเป็นเงิน 535,277.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2548 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและได้รับเงินจากบุคคลอื่น โดยผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันกู้ยืม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดผู้ให้กู้จึงให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงิน โดยนำเงินดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทำเป็นสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 20 มิถุนายน 2544 สัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองได้ เนื่องจากมูลหนี้เดิมเป็นมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 เป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาเข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากโจทก์ ภริยาโจทก์กับจำเลยที่ 2 และภริยาจำเลยที่ 2 วางแผนสมคบกันแสดงเจตนาลวงโดยนำเอกสารสัญญากู้ยืมเงินที่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้กู้ แต่ยังมิได้กรอกข้อความและจำนวนเงินมาให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในช่องผู้ค้ำประกัน เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันจริง สัญญาค้ำประกันจึงไม่มีมูลหนี้และตกเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอแก้คำให้การภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ทั้งตามคำร้องไม่มีเหตุสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ก่อนนั้น จึงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การ ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า กรณีมีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติหลักเกณฑ์การกำหนดระยะเวลาแก้ไขคำให้การว่าต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ทั้งนี้วันสืบพยานตามความในมาตรา 1 (10) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน คือเป็นวันแรกที่มีการสืบพยานกันจริง ๆ นั่นเอง เมื่อศาลชั้นต้นนัดสืบพยานในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 โดยไม่มีการชี้สองสถาน การที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ จึงอาจทำได้ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การเป็นว่า สัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง จึงไม่มีมูลหนี้และตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปัญหาที่ว่านิติกรรมใด เป็นโมฆะหรือไม่ ถือเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในเรื่องดังกล่าวได้ แม้เป็นการยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตามที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การได้ตามคำร้องและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share