คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3912/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

มาตรา 102 บัญญัติให้เจ้าพนักงานค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้นหรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ร้องขอมาเป็นพยาน ดังนี้ แม้ขณะเริ่มลงมือค้นเจ้าพนักงานตำรวจจัดให้ จ. ซึ่งมิใช่บุคคลในครอบครัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานในการค้นห้องจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ก็ตาม แต่ระหว่างค้นจำเลยที่ 2 ได้กลับมานำเจ้าพนักงานตำรวจค้นห้องจำเลยที่ 2 ด้วยตนเองต่อไปจนกระทั่งค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงถือว่าเจ้าพนักงานทำการค้นห้องจำเลยที่ 2 ต่อหน้าจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองสถานที่ตามมาตรา 102 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 4 ทวิ, 5, 6, 10, 12, 15 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนของกลางที่เหลือ ศาลแขวงสมุทรปราการมีคำพิพากษาริบแล้ว
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันเล่นการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลและฐานเล่นการพนันจับสลากโดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ แต่ปฏิเสธฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 4 ทวิ, 5, 6, 10, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจัดให้มีการเล่นพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอล ปรับ 2,000 บาท ฐานจัดให้มีการเล่นพนันจับสลาก ปรับ 2,000 บาท รวมปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 2,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปี 8 เดือน ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบกับมาตรา 53 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 700,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 525,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ปรับจำเลยที่ 1 ฐานจัดให้มีการเล่นพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลตามพระราชบัญญัติการพนัน 1,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับ 500 บาท รวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตและปรับ 1,001,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 คงลดเฉพาะมาตราส่วนโทษให้ แต่ไม่ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 700,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “…ศาลชั้นต้นออกหมายค้นระบุให้ร้อยตำรวจเอกกฤษฎา มีอำนาจไปค้นบ้านที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 1 เพื่อพบและยึดสิ่งของยาเสพติดให้โทษและอื่นๆ ได้ในวันเกิดเหตุ ตั้งแต่เวลา 21 นาฬิกา จนถึงเสร็จสิ้นการตรวจค้น แสดงว่าศาลชั้นต้นต้องพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่งที่จะต้องให้เจ้าพนักงานทำการตรวจค้นในเวลากลางคืนอันเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 96 (2) แล้ว เมื่อร้อยตำรวจเอกกฤษฎานำหมายค้นดังกล่าวไปค้นบ้านที่เกิดเหตุในเวลากลางคืนตามวันเวลาที่ศาลชั้นต้นให้อำนาจ การค้นที่บ้านเกิดเหตุจึงชอบด้วยกฎหมาย สำหรับการค้นห้องจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า มาตรา 102 บัญญัติให้เจ้าพนักงานค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้นหรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ร้องขอมาเป็นพยาน ดังนี้ แม้ขณะเริ่มลงมือค้น เจ้าพนักงานตำรวจจัดให้นายจตุพลซึ่งมิใช่บุคคลในครอบครัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานในการค้นห้องจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ก็ตาม แต่ระหว่างค้นจำเลยที่ 2 ได้กลับมานำเจ้าพนักงานตำรวจค้นห้องจำเลยที่ 2 ด้วยตนเองต่อไปจนกระทั่งค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงถือว่าเจ้าพนักงานทำการค้นห้องจำเลยที่ 2 ต่อหน้าจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองสถานที่ตามมาตรา 102 แล้ว
สำหรับปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ แต่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 เพียงเพราะจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษและเป็นบิดาจำเลยที่ 2 เท่านั้น โดยทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นในการนำเมทแอมเฟตามีน ของกลางเข้ามาในบ้านที่เกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปี ออกจากโรงเรียนมารับจ้างและมีห้องนอนส่วนตัวอยู่ชั้นล่าง จึงด่วนสรุปว่า จำเลยที่ 2 ต้องบอกเรื่องที่ตนมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนมากให้จำเลยที่ 1 ทราบย่อมไม่ได้กรณีมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษ จำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้ว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย สำหรับโทษของจำเลยที่ 2 ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share