แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น เป็นเรื่องอยู่ในดุลพินิจของศาล และมีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำผิดนั้นๆ โดยตรง กล่าวคือทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วยการที่จำเลยใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดก็มิได้หมายความว่าใช้รถยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์และตามปกติรถยนต์ของกลางโดยสภาพมีไว้เพื่อใช้เดินทางจากที่หนึ่งไปยังที่อื่นอันเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป รถยนต์ของกลางย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง จึงเป็นทรัพย์สินที่ศาลไม่มีอำนาจสั่งริบได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 334, 336 ทวิ ริบรถยนต์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 3 ปี และปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 24 ชั่วโมง ให้เสร็จภายในหกเดือนนับแต่ศาลพิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน ไม่ปรับไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติ แต่ให้ริบรถยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…รถยนต์ของกลางมิใช่ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ให้ริบเสียทั้งสิ้น และการที่ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) นั้น เป็นเรื่องอยู่ในดุลพินิจของศาลและมีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำผิดนั้นๆ โดยตรง กล่าวคือ ทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วยซึ่งต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆ ไป สำหรับคดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดอันเป็นการบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำผิดด้วยไม่ การที่จำเลยใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดก็มิได้หมายความว่าใช้รถยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์และตามปกติรถยนต์ของกลางโดยสภาพมีไว้เพื่อใช้เดินทางจากที่หนึ่งไปยังที่อื่นอันเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป รถยนต์ของกลางย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง จึงเป็นทรัพย์สินที่ศาลไม่มีอำนาจสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ริบรถยนต์ของกลางนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น และเห็นสมควรวินิจฉัยให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215, 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 9 เดือน ไม่ริบรถยนต์ของกลางแต่ให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3