แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การโอนสิทธิเรียกร้องนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 คงบังคับแต่เพียงให้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือให้ลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนเท่านั้น ไม่มีบทกฎหมายใดที่บังคับให้ต้องแจ้งแก่เจ้าหนี้หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ ดังนั้น เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบแล้วแม้มิได้แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบ ก็สมบูรณ์และใช้บังคับได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงิน และขออายัดเงินของจำเลยที่ 1ที่ 2 ซึ่งจะได้รับจากบริษัทบิกเบลล์ฯ จำกัด ไว้ชั่วคราวศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงินจำนวน 528,000 บาท ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เงินดังกล่าวเป็นของผู้ร้องแล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1โอนสิทธิเรียกร้องให้เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทและตั๋วสัญญาใช้เงิน ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัด โจทก์ค้านว่าผู้ร้องไม่ใช่คู่ความ การโอนสิทธิเรียกร้องไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียเปรียบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งและหมายอายัดเงินศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของผู้ร้อง สาขาพลับพลาไชย มีนายเสวกปานสุรการ เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เปิดสินเชื่อไว้กับผู้ร้อง โดยนำตั๋วสัญญาใช้เงิน 10 ฉบับ มาทำสัญญาแลกเงินสดไปจากผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน 3,200,000 บาทเศษ และตกลงให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังมีคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับผู้ร้อง และมีสินค้ามาถึงแล้วไม่ยอมชำระหนี้จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับผู้ร้อง และจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทประมาณ 10 ฉบับ รวมเป็นเงินประมาณ 1,200,000บาทเศษ แต่จำเลยที่ 1 นำที่ดินมาจำนองและพาบุคคลมาค้ำประกันหนี้ไว้กับผู้ร้อง ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายและติดตั้งลิฟท์ให้แก่บริษัทบิกเบลล์ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ จำกัด ในราคาประมาณ 900,000 บาทได้รับชำระราคาบางส่วน ยังมีเงินที่ค้างชำระอยู่อีกจำนวน 528,000บาท จึงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้จำนวนหนี้ให้แก่ผู้ร้องในวันที่3 กรกฎาคม 2527 และได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัทบิกเบลล์ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ จำกัด ทราบ แต่มิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2527 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลอายัดสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวก่อนศาลมีคำพิพากษา และในวันเดียวกันนั้นเองศาลได้มีคำสั่งอายัดตามที่โจทก์ขอ และเมื่อวันที่ 8ตุลาคม 2527 ผู้ร้องมอบอำนาจให้นางอารีรัตน์ ชิวธนาสุนทร ไปรับเงินจากบริษัทบิกเบลล์ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ จำกัด แต่ได้รับแจ้งว่าเงินจำนวนดังกล่าวถูกศาลสั่งอายัดไว้ชั่วคราวแล้ว
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยกับผู้ร้องใช้บังคับไม่ได้ เพราะในวันที่ทำการโอนสิทธิเรียกร้องนั้น สิทธิเรียกร้องที่จำเลยมีต่อบริษัทบิกเบลล์จำกัด ยังไม่เกิดขึ้นนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย คงมีข้อที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้แต่เพียงว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยกับผู้ร้องได้กระทำโดยไม่สุจริต และทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ และการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ และโจทก์มิได้ยินยอมด้วยจะใช้บังคับได้หรือไม่
ในข้อวินิจฉัยข้อแรก ที่โจทก์อ้างว่าผู้ร้องรู้อยู่ก่อนรับโอนสิทธิเรียกร้องแล้วว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์อยู่และไม่มีหลักประกัน แต่ก็ยังสมคบกับจำเลยทั้งสามทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6บัญญัติว่า ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ผู้ร้องจึงได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย และทำให้ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ แต่มีเพียงนายอรรถวิทย์ สิงคนางกูลกรรมการผู้จัดการโจทก์คนเดียวเบิกความว่าเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามา พยานจึงได้สอบถามจำเลยที่ 2 ได้ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้อง โดยจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองบ้านพร้อมที่ดินค้ำประกันหนี้จนหลักทรัพย์เพียงพอชำระหนี้ได้ จึงเป็นการยืนยันเพียงว่าเพิ่งทราบจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องมิได้นำสืบอย่างใดในข้อที่ว่าผู้ร้องได้รู้อยู่ก่อนแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะชำระหนี้โจทก์ ส่วนที่นายเสวก ปานสุรการ เบิกความว่า ก่อนผู้ร้องจะให้จำเลยที่ 1 กู้เงิน ผู้ร้องก็ได้สอบถามหลักทรัพย์และหนี้สินของจำเลยที่ 1 ไว้ด้วยนั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏว่าการสอบถามจำเลยที่ 1 ได้แจ้งว่าเป็นหนี้ใครเท่าใด และมีทรัพย์สินอะไรบ้างคงมีแต่เพียงการสอบถามเท่านั้น ยังไม่พอฟังว่าผู้ร้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และรู้ว่าการโอนหนี้จะทำให้โจทก์เสียเปรียบ และที่นางอารีรัตน์ชิวธนาสุนทร พยานผู้ร้องเบิกความว่า ตอนจำเลยที่ 1 ไปขอกู้เงินธนาคารได้สอบถามหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 แจ้งฐานะทรัพย์สินและจำนวนหนี้ให้ผู้ร้องทราบด้วยนั้น ก็เป็นเรื่องของหนี้สินและหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวกับหนี้สินหรือหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่เป็นประเด็นวินิจฉัยอยู่แต่อย่างใดส่วนในข้อที่ว่าผู้ร้องสมคบกับจำเลยทั้งสามนั้น โจทก์ก็มิได้นำสืบอย่างใด และข้อที่ว่ามีการแก้ไขบางประการในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องก็หาเพียงพอที่จะฟังว่าการโอนไม่สุจริตไม่ คดีจึงฟังไม่ได้ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องได้กระทำโดยไม่สุจริต และทำให้โจทก์เสียเปรียบ
สำหรับในประเด็นที่ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1กับผู้ร้องมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ และโจทก์มิได้ยินยอมด้วย จะใช้บังคับได้หรือไม่นั้นเห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 คงบังคับแต่เพียงให้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือให้ลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนเท่านั้น ไม่มีบทกฎหมายใดที่บังคับให้ต้องแจ้งแก่เจ้าหนี้หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องตามที่ปรากฏมาแล้วข้างต้น จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายและใช้บังคับได้”
พิพากษายืน