คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7195/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีละเมิดมิใช่คดีครอบครัวที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัวซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11(3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534 ดังนั้น เมื่อมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของโจทก์บางคนซึ่งเป็นผู้เยาว์ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่อง โดยตั้งผู้แทนเฉพาะคดีให้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสุดท้ายโดยไม่จำเป็นต้องขออำนาจในการดำเนินคดีจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดแม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาทซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาที่ว่า การที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 จำเลยไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งแปดเพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ให้เช่ารถสามล้อเครื่องและจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของรถสามล้อเครื่อง ไม่ใช่นายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 และไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากรถสามล้อเครื่อง ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้สูงเกินไปนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งแปดฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีในฐานะส่วนตัวและบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมและขอเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ผู้เยาว์อันเกิดกับนางสุวรรณี สุทธิพิสิทธิ์ชัย ผู้ตาย โจทก์ที่ 8 เป็นมารดาของผู้ตาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ขับรถสามล้อเครื่องรับจ้างหมายเลขทะเบียน 1ส-6421กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองและนำเข้าร่วมกิจการรับส่งคนโดยสารกับจำเลยที่ 4ไปในกิจการค้าอันเป็นธุรกิจปกติของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับประกันภัยรถสามล้อเครื่องคันดังกล่าวขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถสามล้อเครื่องมาตามถนนสาธุประดิษฐ์จากถนนจันทร์มุ่งหน้าไปตลาดรุ่งเจริญโดยขับในช่องเดินรถด้านซ้ายสุด ด้วยความประมาทได้เปลี่ยนช่องเดินรถอย่างกะทันหันล้ำเข้าไปในช่องเดินรถด้านที่ขับสวนทางมาเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 1ท-2295 ที่โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับและผู้ตายนั่งซ้อนท้าย เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และผู้ตายได้รับอันตรายสาหัส และผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหาย เป็นค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 จำนวน 48,687 บาท ค่าขาดรายได้ของโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 2 เดือน เป็นเงิน 40,000 บาท ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ 30,000 บาทค่ารักษาพยาบาลผู้ตายก่อนถึงแก่ความตาย 26,032 บาทค่าปลงศพ 65,000 บาท ค่าสุสานเก็บศพ 55,000 บาทค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน1,000,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 8 จำนวน100,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,364,719 บาทดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน100,951 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,465,670 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน1,465,670 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน1,364,719 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ทั้งแปด
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้นำรถสามล้อเครื่องหมายเลขทะเบียน 1ส-6421 กรุงเทพมหานครเข้าร่วมกิจการของจำเลยที่ 4 และโอนเป็นของจำเลยที่ 4ชั่วคราวแต่มิได้ดำเนินกิจการค้าร่วมกับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 3มิได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสามล้อเครื่องคันดังกล่าวจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และมิได้ขับรถสามล้อเครื่องคันดังกล่าวไปในกิจการค้าอันเป็นธุรกิจปกติของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินความเป็นจริงโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมและไม่มีอำนาจขอเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 4 มิใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 รถสามล้อเครื่องหมายเลขทะเบียน 1ส-6421 กรุงเทพมหานครมิได้ร่วมในกิจการของจำเลยที่ 4 เหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1 ค่าเสียหายสูงเกินความจริงจำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมาย และไม่เกินจำนวนที่จำกัดความรับผิดไว้ในสัญญาประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4ร่วมกันชำระเงินจำนวน 566,212.65 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งแปด ส่วนจำเลยที่ 5ให้รับผิดในต้นเงิน 66,212.65 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งแปด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์ทั้งแปด จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ด้วย โดยให้จำเลยที่ 5ร่วมรับผิดในต้นเงิน 125,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาประการแรกว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีละเมิดมิใช่คดีครอบครัวที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัวซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11(3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534 ดังนั้น เมื่อมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในคดีนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่องโดยตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้แทนเฉพาะคดีให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสุดท้ายโดยโจทก์ที่ 1 ไม่จำต้องขออำนาจในการดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ที่ 2ถึงที่ 7 จากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ดังที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า การที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งแปดเพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ให้เช่ารถสามล้อเครื่อง และจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของรถสามล้อเครื่องไม่ใช่นายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 และไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากรถสามล้อเครื่อง ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้สูงเกินไปซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ทั้งแปดต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดแม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่งที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2และที่ 3 และสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 4 มานั้นจึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน และให้ยกฎีกาจำเลยที่ 4

Share