คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9084/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่2เป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้เยาว์การที่จำเลยที่1ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่นจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา429มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่2จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ไม่ได้แต่จำเลยที่2เป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่1ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา430มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่2ศาลจึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา430มาใช้บังคับให้จำเลยที่2ร่วมกับจำเลยที่1รับผิดต่อโจทก์ได้โดยชอบ จากพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่าจำเลยที่2เป็นผู้นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่3และจำเลยที่2และที่3เคยยอมโดยปริยายให้จำเลยที่1ขับรถยนต์ไปที่ไร่ที่กิ่งอำเภอวังจันทร์ โดยไม่ว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่1การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบแม้คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทซึ่งคู่ความต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งก็ตามแต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้ใหม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา243(3)(ก),247 จำเลยที่2เป็นผู้บอกจำเลยที่3ให้นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่3จำเลยที่1ขับรถไม่ค่อยเป็นไม่สามารถขับรถยนต์ออกถนนใหญ่ได้ซึ่งจำเลยที่2และที่3ก็ทราบดีและยังทราบว่าจำเลยที่1เคยขับรถยนต์ไปที่ไร่ที่กิ่งอำเภอวังจันทร์ด้วยตามพฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยที่2และที่3ควรจะเก็บกุญแจรถยนต์จิ๊ปไว้ในที่ซึ่งจำเลยที่1ไม่สามารถนำออกไปใช้ได้การที่จำเลยที่2ให้จำเลยที่3นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่3ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจในขณะที่จำเลยที่3ขายของจนเป็นเหตุให้จำเลยที่1แอบหยิบเอากุญแจไปใช้ขับรถยนต์จิ๊ปโดยประมาทชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายถือได้ว่าจำเลยที่2และที่3ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่1บุตรผู้เยาว์ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นจำเลยที่2และที่3จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่1ในการทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2532 จำเลยที่ 1ผู้เยาว์และอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาได้ขับรถยนต์จิ๊ปหมายเลขทะเบียน น-5652 ชลบุรี ของจำเลยที่ 4 ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียนผ-0005 ชลบุรี แล้วเสียหลักชนกับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน4 จ-7244 กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวได้ซ่อมแซมเสียค่าใช้จ่ายไปจำนวน 150,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะบิดามารดาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์จิ๊ปต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินค่าซ่อมเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2532จนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 4,191.78 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน 154,191.78 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 150,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุแห่งการละเมิดทั้งหมดเกิดจากความประมาทของนายนิพนธ์ บุญจันทร์ผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผ-0005 ชลบุรี จนเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทและไม่ได้อยู่ในความปกครองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังดีแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นคนบอกให้จำเลยที่ 3 นำกุญแจรถจิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำละเมิดด้วยจึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินสมควร หากเสียหายก็ไม่เกิน 30,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง(วันที่ 24 มกราคม 2533) จะต้องไม่เกิน 4,191.78 บาท ตามที่โจทก์ขอ จำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงและการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238, 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปีเศษ ยังเป็นผู้เยาว์และเป็นบุตรอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 ที่ 3ซึ่งเป็นสามีภรรยากันแต่มิได้จดทะเบียนสมรส โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 4จ-7244 กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2532 เวลาประมาณ 20 นาฬิกาจำเลยที่ 1ได้ขับรถยนต์จิ๊ปหมายเลขทะเบียน น-5652 ชลบุรี ของจำเลยที่ 4ไปตามถนนสุขุมวิท จากอำเภอบ้านฉางมุ่งหน้าไปทางอำเภอเมืองระยองด้วยความเร็วสูงและประมาทล้ำเข้าไปช่องเดินรถที่แล่นสวนทางมาและได้เกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียนผ-0005 ชลบุรี ซึ่งแล่นสวนทางมาที่บริเวณหน้าวัดชากลูกหญ้าแล้วรถยนต์จิ๊ปเสียหลักและได้แล่นเข้าชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งแล่นตามหลังรถยนต์กระบะได้รับความเสียหายมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในปัญหาแรกที่ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 430 มาใช้บังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ การที่จำเลยที่ 1 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำมาตรา 429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ไม่ได้ แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1 ต้องนำมาตรา 430 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์จึงนำมาตรา 430 มาใช้บังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์ได้โดยชอบ
ปัญหาสุดท้าย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตามสมควรหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 หรือการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยยอมโดยปริยายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปที่ไร่ที่กิ่งอำเภอวังจันทร์ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เคยว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการนำเท็จจริง ที่ไม่ปรากฏในสำนวนมาวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตามสมควรแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จากพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยยอมโดยปริยายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปที่ไร่ที่กิ่งอำเภอวังจันทร์ โดยไม่เคยว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงมาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้ใหม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(3)(ก), 247 โดยเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้บอกจำเลยที่ 3 ให้นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้ายขายของของจำเลยที่ 3 และได้ความจากจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถไม่ค่อยเป็นไม่สามารถขับรถยนต์ออกถนนใหญ่ได้ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ทราบดีและยังทราบว่าจำเลยที่ 1 เคยขับรถยนต์ไปที่ไร่ที่กิ่งอำเภอวังจันทร์ด้วย จากข้อเท็จจริงดังได้ความตามที่วินิจฉัยแล้วข้างต้นเห็นว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรจะเก็บกุญแจรถยนต์จิ๊ปไว้ในที่ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำออกไปใช้ได้ การที่จำเลยที่ 2ให้จำเลยที่ 3 นำกุญแจรถยนต์ไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจในขณะที่จำเลยที่ 3ขายของ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 แอบหยิบกุญแจไปใช้ขับรถยนต์จิ๊ปโดยประมาทชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ในการทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share