คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7176/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามเดินทางมาที่ห้างสรรพสินค้า ซ. สาขาพระราม 9 ด้วยกัน แล้วจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมก่อนพร้อมธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมที่เก็บไว้ในซองสีน้ำตาลซ่อนอยู่กับตัวของจำเลยที่ 1 ต่อมาจึงจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ คนละแห่งกันกับที่จับกุมจำเลยที่ 1 แม้อยู่ในห้างสรรพสินค้าเดียวกัน แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะครอบครองธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมร่วมกัน โจทก์คงอาศัยพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันเท่านั้นที่เป็นหลักในการดำเนินคดี แต่บุคคลที่เดินทางมาด้วยกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องกระทำความผิดร่วมกันเสมอไป โจทก์ไม่มีพยานบุคคลใดที่ทราบถึงรายละเอียดของการซื้อและส่งมอบธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอม พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีการกระทำร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ที่มีธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมไว้เพื่อนำออกใช้ และรู้ถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่แรกด้วยหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 และที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244, 247 และ 83 ริบธนบัตรของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 (เดิม), 247 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 (ที่ถูก มาตรา 244 (เดิม) ประกอบมาตรา 247 (เดิม), 83 ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า วันที่ 29 กันยายน 2558 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวางได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีการล่อซื้อธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมจากจำเลยที่ 1 โดยนัดหมายส่งของกันที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาพระราม 9 จึงได้นำกำลังไปกระจายกันอยู่ในห้างสรรพสินค้าดังกล่าว และสามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ที่ทางเชื่อมระหว่างลานจอดรถและทางเข้าห้างสรรพสินค้าชั้น 4 พร้อมของกลางเป็นธนบัตรดอลลาร์สหรัฐ ฉบับละ 100 ดอลลาร์ 294 ฉบับ ซึ่งบรรจุในถุงกระดาษทึบสีน้ำตาล เหน็บอยู่ที่ขอบกางเกงด้านหลังของจำเลยที่ 1 มีเสื้อปิดไว้ ต่อมาจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ที่ลานจอดรถชั้น 4 และจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ที่ภายในห้างสรรพสินค้าชั้น 4 เอ ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธข้อหาร่วมกันทำปลอมขึ้นซึ่งธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม พนักงานสอบสวนส่งธนบัตรของกลางไปตรวจพิสูจน์ ปรากฏว่าไม่ใช่ธนบัตรที่แท้จริง ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหามีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าเพื่อนของสายลับเป็นผู้ติดต่อซื้อธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอม และนัดหมายส่งมอบธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอม จึงไม่มีพยานโจทก์คนใดที่ทราบถึงรายละเอียดของการซื้อธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอม และการส่งมอบธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมว่าเพื่อนของสายลับจะมีการติดต่อนัดหมายกันกับจำเลยคนใดบ้าง สายลับแจ้งต่อร้อยตำรวจเอกนภสิทธิ์เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปรับธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมจากบ้านที่ย่านบางบัวทอง โดยมิได้กล่าวถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย สายลับคงยืนยันข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดได้เฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่ไม่อาจยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ทั้งสายลับเองมิได้มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงใด ๆ ต่อศาล ร้อยตำรวจเอกนภสิทธิ์ และเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมคนอื่น ๆ ซึ่งรับทราบข้อมูลมาจากสายลับอีกต่อหนึ่ง จึงยิ่งไม่อาจยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้อย่างแน่ชัด และโจทก์นำสืบถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสามโดยมีร้อยตำรวจโทภุชงค์ พนักงานสอบสวน เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า เป็นเพื่อนกันมาประมาณ 2 ปี แล้ว พักอาศัยอยู่ด้วยกัน และจำเลยที่ 1 รับว่ามีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 มา 2 ปี แล้ว และจำเลยที่ 3 ให้การว่ารู้จักกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มา 2 ปี เช่นกัน แต่ปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิด โดยบอกว่าเป็นเพียงคนขับรถให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น คำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวคงได้ความเพียงว่าจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้องเป็นเพื่อนกันเท่านั้น แต่มิได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสามในขณะที่มีการกระทำความผิดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรู้เห็นตกลงใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วยกันมาตั้งแต่แรกหรือไม่ อย่างไร และจำเลยที่ 1 เองก็มิได้ให้การซัดทอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้และไม่ทราบเกี่ยวกับการกระทำความผิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อและรู้เห็นเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพียงคนเดียว ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์คงได้ความเพียงว่า จำเลยทั้งสามเดินทางมาที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาพระราม 9 ด้วยกัน แล้วจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมก่อนพร้อมธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมที่เก็บไว้ในซองสีน้ำตาลซ่อนอยู่กับตัวของจำเลยที่ 1 ต่อมาจึงจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ คนละแห่งกันกับที่จับกุมจำเลยที่ 1 แต่ก็อยู่ในบริเวณห้างสรรพสินค้าเดียวกัน ดังนี้ ขณะจับกุมจำเลยทั้งสามอยู่คนละแห่ง แม้อยู่ในห้างสรรพสินค้าเดียวกัน แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะครอบครองธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมร่วมกัน โจทก์คงอาศัยพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันเท่านั้นที่เป็นหลักในการดำเนินคดี แต่บุคคลที่เดินทางมาด้วยกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องกระทำความผิดร่วมกันเสมอไป ทั้งตามภาพถ่าย ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมที่พบซ่อนอยู่ในซองกระดาษทึบสีน้ำตาลเก็บไว้อยู่กับตัวของจำเลยที่ 1 โดยเหน็บอยู่ที่ขอบกางเกงด้านหลังมีเสื้อปิดอยู่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ต้องการเก็บธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมไว้กับตัวเอง เป็นลักษณะซุกซ่อนไว้ไม่ต้องการเปิดเผยให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดพบเห็น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงอาจไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 นำธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมติดตัวมาด้วย โจทก์ยังคงต้องมีพยานหลักฐานอื่นประกอบเพิ่มเติมอีก แต่โจทก์มิได้นำเพื่อนของสายลับซึ่งเป็นผู้ซื้อธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมมาเบิกความเป็นพยานว่าติดต่อซื้อกับจำเลยคนใดบ้าง และไม่สามารถนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของจำเลยทั้งสามในการกระทำความผิดได้ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนร่วมกัน หรือการตกลงจัดแบ่งหน้าที่กันในการกระทำความผิด พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงยังไม่ได้ความแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีการกระทำร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ที่มีธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมไว้เพื่อนำออกใช้ในลักษณะอย่างไร และจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้ถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 มีเจตนาตกลงใจร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดนั้นมาตั้งแต่แรกด้วยหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนถึงเหตุผลที่ชวนจำเลยที่ 2 ซึ่งพักอยู่ด้วยกันให้ไปด้วย แล้วชวนจำเลยที่ 3 ซึ่งมีรถยนต์และสามารถขับรถได้ให้ช่วยขับรถจากย่านลาดพร้าวไปรับซองเอกสารซึ่งใส่ธนบัตรปลอมจากบางบัวทอง และจะนำไปส่งโดยมีคนมารับที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาพระราม 9 ทั้งชวนรับประทานอาหารที่ห้างสรรพสินค้านั้น ไม่สมเหตุสมผลที่ต้องเดินทางย้อนไปย้อนมา นอกจากจำเลยทั้งสามได้วางแผนไว้ล่วงหน้านั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นเพื่อนกัน การที่จำเลยที่ 1 ชวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เดินทางไปด้วยกัน แม้จะเดินทางย้อนไปย้อนมาบ้าง ก็ไม่ถึงขนาดจะเป็นพิรุธ และไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่ารู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนฎีกาอื่นของโจทก์เป็นข้อปลีกย่อยที่มิได้ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมา ยังคงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share