คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6246/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กำหนดสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ คดีนี้ใบพืชกระท่อมสดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรรวมราคาของและค่าอากรเข้าด้วยกันแล้วเป็นเงิน 78,000 บาท ลงโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นเงิน 312,000 บาท และไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วางโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 156,000 บาท และลดโทษกึ่งหนึ่งให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงิน 78,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76/1, 100/1, 102 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลาง จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 75 วรรคสอง, 76/1 วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) จำคุกคนละ 1 ปี 2 เดือน และปรับคนละ 110,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 7 เดือน และปรับคนละ 55,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันลักลอบนำหรือพาของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรและให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ความผิดฐานนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ไม่จำต้องมีองค์ประกอบในเรื่องหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล เมื่อมีการนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นความผิดแล้ว ซึ่งแตกต่างจากความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ที่ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากรหรือเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล เมื่อใบพืชกระท่อมสดที่จำเลยทั้งสองนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นของที่มีไว้เป็นความผิดและจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามา ทำให้ไม่อาจเสียภาษีได้ การที่จำเลยทั้งสองนำเข้ามาในราชอาณาจักรย่อมมิใช่การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรหรือเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันนำเข้าของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้ไม่ได้ และไม่สามารถจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมจำเลยทั้งสอง คำขอนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ฐานนำหรือพาของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรอีกบทหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวกับฐานนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ลงโทษฐานนำหรือพาของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี 2 เดือน และปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 เป็นเงินสี่เท่าราคาของรวมค่าอากรเป็นเงิน 156,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 7 เดือน และปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงิน 78,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับร้อยละยี่สิบของค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 วรรคสอง, 8 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กำหนดสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ คดีนี้ใบพืชกระท่อมสดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรราคา 60,000 บาท และค่าอากร 18,000 บาท รวมราคาของและค่าอากรเข้าด้วยกันแล้วเป็นเงิน 78,000 บาท ลงโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นเงิน 312,000 บาท ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วางโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 156,000 บาท และลดโทษกึ่งหนึ่งให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงิน 78,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกคนละ 1 ปี 2 เดือน และปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 เป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 312,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 7 เดือน และปรับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน 156,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share