คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทจำเลยสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918,989 การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทแล้วนำไปขายลดให้แก่ธนาคารย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 921,989 เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่ธนาคารและเข้าถือเอาเช็คนั้นกลับคืนมา โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันเช็คถึงกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1003 ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้สลักหลังเข้าถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน เพราะโจทก์มิใช่ผู้สลักหลัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้เป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางกะปิ ซึ่งจำเลยที่ 2เป็นผู้สั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปขายลดแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อเช็คถึงกำหนด ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้นำเงินไปชำระแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาปู่เจ้าสมิงพราย และรับเช็คคืนมา โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 277,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 258,750 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงและท้ากันว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ถ้าคดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ยอมแพ้หากคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยทั้งสองยอมแพ้ โดยสละประเด็นข้อต่อสู้อื่นทั้งหมด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 258,750 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน2526 (น่าจะเป็น 2529) จนกว่าจะชำระเสร็จ (ดอกเบี้ยคิดจนถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน 18,850 บาท) แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003 หรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย โจทก์ได้รับเช็คพิพาทแล้วสลักหลังนำไปขายลดให้แก่ธนาคาร การสลักหลังเช็คดังกล่าว โจทก์ต้องรับผิดอย่างผู้ประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921, 940 และมาตรา 989เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์จึงอยู่ในฐานะถูกไล่เบี้ยจากธนาคารซึ่งเป็นผู้ทรงเช็ค และเมื่อโจทก์ชำระเงินให้แก่ธนาคารแล้วเข้าถือเอาเช็คนั้นกลับคืนมา โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คมีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คจากจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์เป็นผู้ประกันไว้ตามมาตรา 904 และ 940 วรรคสาม ในกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาทจากจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จึงเป็นการฟ้องผู้สั่งจ่ายในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท อายุความจึงมีกำหนด 1 ปีนับแต่วันเช็คถึงกำหนด ตามมาตรา 1002 หาใช่ในฐานะผู้สลักหลังฟ้องไล่เบี้ยกันเองหรือผู้สลักหลังฟ้องผู้สั่งจ่ายซึ่งมีอายุความ6 เดือน ตามมาตรา 1003 ดังฎีกาของจำเลยทั้งสองไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินตามเช็คพิพาทวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 เช็คพิพาทถึงกำหนดชำระวันที่ 11 สิงหาคม 2529 จึงไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share