แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2480 มาตรา 42 บัญญัติห้ามคนต่างด้าวเข้ามาในพระราชอาณาจักรสยามโดยฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.นี้และกำหนดโทษไว้ แต่ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2493 มิได้กำหนดโทษความผิดไว้ คงมีมาตรา 58 บัญญัติห้ามคนต่างด้าวผู้ใดอยู่ในราชอาณาจักร ด้วยการเข้ามาโดยฝ่าฝืนมาตรา 11 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มีความผิดต้องระวางโทษ ฉะนั้นเมื่อใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2493 แล้วจะฟ้องคนต่างด้าวหาว่าเข้ามาในราชอาณาจักรสยามฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2480 ศาลย่อมลงโทษตามที่ฟ้องไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนต่างด้าว เข้ามาในราชอาณาจักรสยามโดยไม่มีหนังสือเดินทางอันถูกต้อง ฯลฯ ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๙๐ ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๑๑,๑๙,๔๒ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๙๓ มาตรา ๑๕,๒๑,๕๘
จำเลยรับว่าได้ทำผิดตามฟ้องจริง แต่จำเลยถึงจังหวัดระยองเกิน ๕ ปีแล้ว คดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฉะบับใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้ลงโทษในกรณีเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่โจทก์บรรยายในฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๘๐ มาตรา ๑๑,๑๙,๔๒ ปรับ ๔๐๐ บาท ลดฐานรับสารภาพกึ่งหนึ่งคงปรับ ๒๐๐ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๘๐ มาตรา ๔๒ บัญญัติห้ามคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรสยามโดยฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.นี้ และกำหนดโทษไว้ แต่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๙๓ มีมาตรา ๕๘ บัญญัติห้ามคนต่างด้าวผู้ใดอยู่ในราชอาณาจักรด้วยการเข้ามาโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๑ มีความผิดต้องระวางโทษ แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้บังอาจเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ซึ่งกฎหมายฉะบับใหม่มิได้กำหนดโทษความผิดไว้ จำเลยจึงไม่มีความผิด
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง