คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดแล้วว่า อ. ผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัย เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัย จำเลยให้การรับว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ทน 8489 กรุงเทพมหานคร ที่ อ. เป็นผู้ขับจึงอาจต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ ข้อที่ว่าจำเลยรับประกันภัยไว้จากผู้ใดเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทราบดีอยู่แล้ว เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 867 บัญญัติว่า “สัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” และวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดหน้าที่ของผู้รับประกันภัยว่าผู้รับประกันภัยจะต้องส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความถูกต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง และกรมธรรม์ประกันภัยจะต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัยและมีรายการต่าง ๆ ได้แก่ วัตถุที่เอาประกันภัย ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง ราคาแห่งมูลประกันภัยถ้าได้กำหนดกันไว้ จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย ถ้าหากสัญญามีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย ชื่อของผู้รับประโยชน์ถ้าจะมี วันทำสัญญาประกันภัย และสถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยอีก คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 342,309 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 338,898 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยรับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) หมายเลขทะเบียน ทน 8489 กรุงเทพมหานคร ขณะเกิดเหตุยังอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย นายอาทิตย์ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ทน 8489 กรุงเทพมหานคร ในช่องเดินรถที่ 1 ด้วยความเร็วสูง เมื่อแล่นผ่านรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จอดเสียอยู่ที่ขอบทางด้านซ้าย ก็ไม่ได้ลดความเร็ว แต่กลับขับหลบรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปทางขวาในระยะกระชั้นชิดและเสียหลักเข้าไปชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยที่แล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 3 ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายอย่างมาก ไม่สามารถแล่นต่อไปได้ โจทก์ซ่อมรถยนต์ให้แก่นายกฤษณะผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายและตามความผูกพันในสัญญากรมธรรม์ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดแล้วว่านายอาทิตย์ผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัย จำเลยให้การรับว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ทน 8489 กรุงเทพมหานคร ที่นายอาทิตย์เป็นผู้ขับจึงอาจต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ ข้อที่ว่าจำเลยรับประกันภัยไว้จากผู้ใดเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทราบดีอยู่แล้ว เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 บัญญัติว่า “สัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” และวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดหน้าที่ของผู้รับประกันภัยว่า ผู้รับประกันภัยจะต้องส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความถูกต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง และกรมธรรม์ประกันภัยจะต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัยและมีรายการต่าง ได้แก่ วัตถุที่เอาประกันภัย ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง ราคาแห่งมูลประกันภัยถ้าได้กำหนดกันไว้ จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย จำนวนเบี้ยประกันภัยและวิธีส่งเบี้ยประกันภัย ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย ชื่อของผู้รับประโยชน์ถ้าจะพึงมี วันทำสัญญาประกันภัย และสถานที่ และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยอีก ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 338,898 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,411 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share