แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 14 บัญญัติว่า “ภาษีอากรประเมิน คือที่มีระบุไว้ในหมวดนั้น ๆ ว่าเป็นภาษีอากรประเมิน” และมาตรา 15 บัญญัติว่า “เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้ ให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับแก่การภาษีอากรประเมินทุกประเภท” แต่ในหมวด 6 มิได้ระบุว่า อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรประเมินและไม่มีบทบัญญัติว่าไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น อากรแสตมป์จึงไม่ใช่ภาษีอากรประเมินจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 19 ประกอบกับมาตรา 123 กำหนดเพียงว่า เมื่อมีเหตุสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจมีอำนาจเข้าทำการตรวจค้นสถานที่เพื่อทำการตรวจสอบ กับมีอำนาจเรียกและยึดเอกสาร และออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือ เอาประโยชน์แห่งตราสารและพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวนได้ บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ใช่บทบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจต้องใช้อำนาจออกหมายเรียกเสมอไป แต่เป็นดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจว่ามีเหตุสมควรที่จะใช้อำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตราดังกล่าวหรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์จึงมีอำนาจเรียกเก็บอากรแสตมป์ได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนก่อน
เมื่ออากรแสตมป์ไม่ใช่ภาษีอากรประเมินจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 18 ตรี ที่กำหนดให้เวลาในการชำระเงินไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง ประกอบกับการเรียกเก็บอากรแสตมป์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการกล่าวหาของกรมที่ดิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 114 และ 115 และตามมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติระยะเวลาชำระอากรไว้ดังเช่นมาตรา 18 ตรี การที่หนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรให้เวลาชำระเงินภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จึงชอบแล้ว และเป็นคนละกรณีกับระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้เรียกเก็บอากรแสตมป์ ซึ่งมาตรา 115 วรรคสอง กำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โจทก์จึงยังคงมีระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรตามมาตรา 30 ประกอบมาตรา 115 วรรคสอง
โจทก์มุ่งประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ ก. และ ก.ชำระราคาให้แก่โจทก์ อันเป็นเจตนาของคู่สัญญาในการตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน ต่อมา ก. ได้นำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์พร้อมหนังสือยินยอมของ ว. ไปดำเนินการจดทะเบียนให้ที่ดินพร้อมบ้านแก่ ก. โดยความรู้เห็นของโจทก์ และโจทก์ก็ได้รับชำระราคาจาก ก. หนังสือสัญญาให้ที่ดินพร้อมบ้านจึงเป็นหลักฐานแสดงว่า ก. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้าน และโจทก์จะได้รับชำระราคาจาก ก. หนังสือสัญญาให้ที่ดินดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นตราสารใบรับที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร ข้อ 28 (ข)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย (ที่ถูก จำเลยทั้งสี่) โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท
ระหว่างระยะเวลายื่นอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่กรรม นายสิทธิภัทท์ บุตรโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ศาลภาษีอากรกลางอนุญาต
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ขอโจทก์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์เรียกเก็บอากรแสตมป์โดยมิได้ออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 14 บัญญัติว่า “ภาษีอากรประเมิน คือที่มีระบุไว้ในหมวดนั้น ๆ ว่าเป็นภาษีอากรประเมิน” และมาตรา 15 บัญญัติว่า “เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้ ให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับแก่การภาษีอากรประเมินทุกประเภท” แต่ในหมวด 6 มิได้ระบุว่า อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรประเมินและไม่มีบทบัญญัติว่าไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น อากรแสตมป์จึงไม่ใช่ภาษีอากรประเมินจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 19 ประกอบกับประมวลรัษฎากร มาตรา 123 กำหนดเพียงว่า เมื่อมีเหตุสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจมีอำนาจเข้าทำการตรวจค้นสถานที่เพื่อทำการตรวจสอบ กับมีอำนาจเรียกและยึดเอกสาร และออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือเอาประโยชน์แห่งตราสารและพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวนได้ บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ใช่บทบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจต้องใช้อำนาจออกหมายเรียกเสมอไป แต่เป็นดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจว่ามีเหตุสมควรที่จะใช้อำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตราดังกล่าวหรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์จึงมีอำนาจเรียกเก็บอากรแสตมป์ได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนก่อน การที่พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์เรียกเก็บอากรแสตมป์จากโจทก์โดยมิได้ออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนก่อนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการที่สองว่า พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์มีหนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรระบุให้เวลาชำระเงินภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่ออากรแสตมป์ไม่ใช่ภาษีอากรประเมินจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 18 ตรี ประกอบกับกรณีการเรียกเก็บอากรแสตมป์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการกล่าวหาของกรมที่ดินตามสำเนาหนังสือกรมที่ดิน ซึ่งเป็นไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 114 และ 115 และตามมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติระยะเวลาชำระอากรไว้ดังเช่นมาตรา 18 ตรี การที่หนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรให้เวลาชำระเงินภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จึงชอบแล้ว และเป็นคนละกรณีกับระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้เรียกเก็บอากรแสตมป์ ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 115 วรรคสอง กำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โจทก์จึงยังคงมีระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ประกอบมาตรา 115 วรรคสอง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการสุดท้ายว่า พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์เรียกเก็บอากรแสตมป์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6318 ให้แก่นางเกศกัญญา และนางเกศกัญญามุ่งชำระราคาให้แก่โจทก์ อันเป็นเจตนาของคู่สัญญาในการตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน แต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2537 นางเกศกัญญาได้นำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์พร้อมหนังสือยินยอมของพลเอกวันชัยไปดำเนินการจดทะเบียนให้ที่ดินพร้อมบ้านตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6318 แก่นางเกศกัญญาโดยความรู้เห็นของโจทก์ และในวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 โจทก์ก็ได้รับชำระราคาจากนางเกศกัญญา หนังสือสัญญาให้ที่ดินพร้อมบ้านตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6318 จึงเป็นหลักฐานแสดงว่านางเกศกัญญาได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6318 และโจทก์จะได้รับชำระราคาจากนางเกศกัญญา หนังสือสัญญาให้ที่ดินดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามกฎหมายจึงเป็นตราสารใบรับที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 28 (ข) โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายและมีสิทธิได้รับชำระราคาจากการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายจึงมีหน้าที่ต้องปิดแสตมป์ในตราสารใบรับนั้น เมื่อมิได้ปิดแสตมป์เลย และข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏขึ้นเนื่องจากกรมที่ดินตรวจสอบพบและมีหนังสือไปถึงจำเลยที่ 2 เรื่องเรียกค่าภาษีอากรเพิ่ม ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์จึงมีอำนาจเรียกเก็บอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกจำนวน 6 เท่าของเงินอากรที่ต้องเสีย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 114 (2) (ก) การที่พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์มีหนังสือแจ้งให้โจทก์เสียอากรแสตมป์เป็นเงิน 56,213 บาท และเงินเพิ่มอากรอีก 6 เท่า เป็นเงิน 337,278 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 393,491 บาท จึงไม่เกินจากอัตราตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 28 (ข) อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ