แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อเกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ก็ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อ 8 จำเลยเป็นข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสำรวจและออกแบบ แม้เป็นเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ ก็อาจเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การที่โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจึงเป็นการเหมาะสมและสอดคล้องตามระเบียบดังกล่าว ส่วนของอายุความในสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งตามวรรคหนึ่งรวมประการที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย กรณีจะใช้อายุความตามหลักละเมิดทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาบังคับไม่ได้
หนังสือสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงลงวันที่ 15 มีนาคม 2544 ที่นายอำเภอบางพลีแจ้งให้ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ทราบแต่เพียงว่าผู้ที่น่าจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายมีบุคคลใดบ้าง และยังมีเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้ต่อไป หนังสือดังกล่าวจึงยังไม่พอให้รับฟังว่าโจทก์ทราบและรู้ว่าจำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว และเนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งกรมบัญชีกลางประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 แล้วมีมติให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดให้โจทก์ทราบ โดยหนังสือลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 โจทก์ลงรับหนังสือเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 10,353,220.10 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 7,023,100 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,500,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายรวมจำนวน 5,680,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกาโดยจำเลยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล โดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 กำหนดให้สภาตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบางโฉลง มีนายชอุ่ม เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางโฉลง จำเลยรับราชการในตำแหน่งวิศวกรโยธาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เป็นหัวหน้าฝ่ายสำรวจและออกแบบ มีหน้าที่สำรวจ ออกแบบ ประมาณราคางานก่อสร้าง และควบคุมงานก่อสร้าง ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองแบบที่โจทก์นำไปใช้ก่อสร้างเขื่อนกันดินคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยไม่มีการขุดเจาะสำรวจดินในบริเวณที่จะใช้ก่อสร้าง และในแบบระบุให้ใช้เสาเข็มยาว 10 เมตร หลังจากนั้นโจทก์นำแบบดังกล่าวไปใช้ในการก่อสร้าง มีการตรวจรับงานและชำระเงินแก่ผู้รับเหมาก่อสร้างไปแล้ว ต่อมาวันที่ 14 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2542 เขื่อนกันดินทรุดตัวก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แต่เดิมมาตรา 60 บัญญัติให้ประธานกรรมการบริหารเป็นผู้แทนขององค์การบริหารส่วนตำบล แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 และตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 60 ที่แก้ไขเมื่อปี 2546 กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมาย ไม่ใช่ประธานกรรมการบริหารตามที่จำเลยอุทธรณ์แล้ว ดังนั้น เมื่อนายชะอุ่มซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์และฟ้องคดีแทนโจทก์หลังจากที่กฎหมายแก้ไขแล้ว ย่อมมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การมอบอำนาจของกระทรวงการคลังและหนังสือของกรมบัญชีกลางที่ชี้มูลว่าจำเลยต้องรับผิดในทางละเมิดไม่ชอบเนื่องจากขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 วรรคสาม การพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงของกรมบัญชีกลางและมติของคณะกรรมการกรมบัญชีกลางว่า จำเลยต้องรับผิดทางละเมิด จึงไม่มีผลใช้บังคับผูกพันหรือก่อให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องในการฟ้องจำเลย เพราะเท่ากับกรมบัญชีกลางยังมิได้พิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง นั้น ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยโดยให้เหตุผลว่า จำเลยไม่ได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า จำเลยยกขึ้นต่อสู้ปัญหานี้ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2549 แล้ว คำพิพากษาส่วนนี้ของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่ชอบ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอยู่แล้วในสำนวน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียเอง โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอีก ซึ่งปัญหานี้กับปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ที่ว่าหากหน่วยราชการมีความเห็นไม่ตรงกันต้องส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีชี้ขาด เมื่อไม่ปฏิบัติ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี เนื่องจากยังมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายที่บังคับไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสามนั้น เห็นสมควรวินิจฉัยรวมกันไป ศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่โต้เถียงได้ความว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 520/2548 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2548 ว่า กรมบัญชีกลางซึ่งได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยออกแบบสร้างเขื่อนกันดินแก่โจทก์โดยไม่ได้รับคำสั่งจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลย และออกแบบโดยประมาทเลินเล่อ จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 7,023,100 บาท ต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 แจ้งให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินจากการกระทำละเมิดที่มิได้เกิดจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวจะต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามนัยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งอยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลยุติธรรม จึงมิใช่คดีปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ ตามสำเนาคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ท้ายคำแถลงของจำเลยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2548 เห็นว่า ข้อฎีกาจำเลยข้างต้นล้วนกล่าวอ้างว่าโจทก์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดบกพร่องและไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และสำเนาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดแต่ละขั้นตอนในการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเช่นว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการ กรณีที่เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐมากกว่าหนึ่งแห่ง การตรวจสอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ข้อปฏิบัติกรณีความเห็นตรงกันหรือไม่ตรงกัน การประนีประนอมยอมความ หรือการขอผ่อนชำระค่าสินไหมทดแทนอย่างไร เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ยุติและถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกันในการไม่ฟ้องคดีหรือฟ้องคดีต่อกัน ซึ่งเป็นกระบวนการในการปกครองเพื่อแก้ปัญหาในองค์กรและเป็นอำนาจในทางบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะ เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยและมีคำสั่งข้างต้นแล้ว ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของจำเลยข้างต้น ถ้าหากมีก็เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องและเกี่ยวพันกันในทางคดีปกครองนั่นเอง และมิใช่กรณีที่จำเลยจะโต้เถียงเพื่อตั้งประเด็นแห่งคดีตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ที่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลยุติธรรมได้ คดีจึงไม่เป็นประเด็นตามคำให้การจำเลยที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาในส่วนนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่ 2 ว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวให้รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิได้ฟ้องให้รับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 คดีต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์ทราบและรู้ตัวจำเลยผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทำรายงานถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2544 และอำเภอบางพลีมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งให้ทราบตามหนังสือฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2544 แล้วนั้น เห็นว่า เมื่อเกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ก็ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อ 8 จำเลยเป็นข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสำรวจและออกแบบ แม้เป็นเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ ก็อาจเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การที่โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจึงเป็นการเหมาะสมและสอดคล้องตามระเบียบดังกล่าว ส่วนของอายุความในสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งตามวรรคหนึ่งรวมประการที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย กรณีจะใช้อายุความตามหลักละเมิดทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาบังคับไม่ได้ ศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า หนังสือสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงลงวันที่ 15 มีนาคม 2544 ที่นายอำเภอบางพลีแจ้งให้ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ทราบแต่เพียงว่าผู้ที่น่าจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายมีบุคคลใดบ้าง และยังมีเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้ต่อไป หนังสือดังกล่าวจึงยังไม่พอให้รับฟังว่าโจทก์ทราบและรู้ว่าจำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว และเนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งกรมบัญชีกลางประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 แล้วมีมติให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดให้โจทก์ทราบ โดยหนังสือลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 โจทก์ลงรับหนังสือเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง นั้น เห็นว่า ชอบด้วยหลักการและเหตุผลดังที่ศาลฎีกาแสดงไว้ข้างต้นแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็น