คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7169/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยฎีกาว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ยอมรับว่าต.ครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วต้องฟังว่า ต.ครอบครองที่ดินพิพาทเกินกว่า 1 ปีแล้วนั้นตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้ความเพียงแต่ว่าเมื่อ 20 ปีมาแล้ว ต.เคยมาขออนุญาตมารดาโจทก์ปลูกตะไคร้กล้วยเท่านั้นซึ่งเท่ากับว่าต.เคยครอบครองที่ดินพิพาทในนามของมารดาโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่ครอบครองเพื่อตนเองเกินกว่า 1 ปี ที่จำเลยฎีกาว่าควรนำข้อเท็จจริงที่โจทก์ยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกมาวินิจฉัยด้วยนั้น แม้จะมีการส่งเอกสารดังกล่าวเข้าสู่สำนวนแล้ว แต่จำเลยก็มิได้นำสืบอ้างถึงเพื่อให้เข้าสู้กระบวนการพิจารณาของศาล อีกทั้งจำเลยมิได้เสียค่าอ้างเอกสารดังกล่าวด้วย จึงไม่อาจนำข้อความในเอกสารดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยได้ จำเลยให้การว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของบิดามารดาจำเลยเมื่อบิดามารดาตาย จำเลยก็ได้ครอบครองต่อมาโดยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ จึงไม่มีประเด็นเรื่องเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิตามมาตรา 1375ได้แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยให้ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 40 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวังปทุมธานี เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งานโดยได้รับการยกให้มาจากนางเปล่ง แก่นจันทร์มารดาโจทก์ เมื่อประมาณ 20 ปี มาแล้ว นายต๋อย แก่นจันทร์ ได้ขออนุญาตมารดาโจทก์ปลูกตะไคร้ กล้วย ในที่ดินดังกล่าวทางทิศเหนือ ต่อมาวันที่28 มีนาคม 2532 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีทำการรังวัดเพื่อขอออกโฉนด จำเลยคัดค้านว่าที่ดินของโจทก์บางส่วนบางส่วนทางทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 1 งาน เป็นของจำเลย ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถรังวัดออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ได้ โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ดินพิพาทโจทก์สามารถให้เช่าได้ปีละไม่น้อยกว่า1,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์และขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยขัดขวางการรังวัดออกโฉนดโดยให้ไปถอนคำคัดค้านการรังวัดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน หากจำเลยไม่ไปถอนคำคัดค้านให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายปีละ 1,000 บาทแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เมื่อประมาณ 30 ถึง 40 ปีมาแล้ว นายต๋อยและนางทองดีบิดามารดาจำเลยได้ครอบครองที่ดินว่างเปล่า 1 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ 1 งาน โดยปลูกต้นไม้ยืนต้นและต้นไม้ล้มลุกเก็บผลประโยชน์โดยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา เมื่อบิดามารดาจำเลยตายจำเลยได้ครอบครองต่อมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ไม่มีบุคคลใดโต้แย้ง จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อปี 2531และปี 2532 โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดล้ำเข้ามาในที่ดินที่จำเลยครอบครองดังกล่าว จำเลยจึงคัดค้านไว้เพราะไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านการรังวัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนางแบน แก่นจันทร์ บิดา นายแบนได้แจ้งการครอบครองไว้ เมื่อนายแบนตายนางเปล่ง แก่นจันทร์ มารดาครอบครองและรับโอนมรดกต่อมาและนางเปล่งได้ยกให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่ปี 2531 โดยโจทก์มี ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.1มาแสดง ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านายแบนเป็นผู้แจ้งการครอบครองและต่อมานางเปล่งได้รับโอนมรดกมาตรงตามที่โจทก์เบิกความ และตาม ส.ค.1 ดังกล่าวระบุว่าทิศเหนือจดที่ดินนายเหม็งซึ่งนายเล็ก ศิริวัฒนกุล สามีจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยยอมรับว่าเดิมทิศเหนือของที่ดินพิพาทติดที่ดินของนางเหม็งบิดาของนายสำลีหรือบุญชี สายบัว จึงฟังได้ว่าที่ดินส่วนที่พิพาทกันนี้เป็นส่วนหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดิน ส.ค.1 ที่นายแบน ได้แจ้งการครอบครองไว้แต่เดิม แต่ปัจจุบันได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่านายสำลีได้แบ่งที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนั้นปัจจุบันทิศเหนือของที่ดินของโจทก์ซึ่งรวมถึงส่วนที่พิพาทจึงติดทางสาธารณประโยชน์ตามแผนที่พิพาทและโจทก์มีนายประทุม ปานกลัด เบิกความถึงความเป็นมาของที่ดินพิพาทด้วยว่าเดิมนายทั้งซึ่งมีบุตรชื่อนายต๋อย และนายเที่ยงซึ่งมีบุตรชื่อนายแบนมีที่ดินร่วมกันต่อมานายต๋อยกับนายแบนได้แบ่งที่ดินออกเป็น 2 ส่วน ส่วนของนายแบนอยู่ทางทิศตะวันตกคือที่ดินพิพาท ส่วนของนายต๋อยอยู่ทางทิศตะวันออกซึ่งปัจจุบันจำเลยขอออกโฉนดไปแล้ว เดิมนายต๋อยก็ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินส่วนของนายแบนปรากฎตามรูปบ้านที่เขียนด้วยดินสอ ในแผนที่พิพาท แต่เมื่อมีการแบ่งที่ดินกันแล้วนายต๋อยจึงได้รื้อบ้านดังกล่าวไปปลูกอยู่ในที่ดินส่วนทางทิศตะวันออกของตน ซึ่งโจทก์ก็มีนายเลี่ยม เย็นทรวง มาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของนายประทุมในส่วนนี้ พยานโจทก์ทั้งสองเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีเหตุจะต้องเบิกความเข้าข้างฝ่ายใด อีกทั้งจำเลยก็เบิกความยอมรับว่านายเลี่ยมเคยอยู่กับนายต๋อย คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองจึงมีน้ำหนักรับฟังเป็นความจริง และจำเลยก็หาได้ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รู้เห็นการครอบครองที่ดินของนายต๋อยให้ปรากฎเลยว่าหลังจากที่มีการแบ่งที่ดินระหว่างนายต๋อยกับนายแบนแล้วนายต๋อยยังคงมาครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของอยู่อีก และพยานจำเลยมีน้ำหนักรับฟังน้อยกว่าพยานโจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ยอมรับว่านายต๋อยครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ต้องฟังว่านายต๋อยครอบครองที่ดินพิพาทเกินกว่า 1 ปีแล้วนั้น เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้ความเพียงแต่ว่าเมื่อ 20 ปีมาแล้วนายต๋อยเคยมาขออนุญาตมารดาโจทก์ปลูกตะไคร้ กล้วย เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่านายต๋อยเคยครอบครองที่ดินพิพาทในนามของมารดาโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่ครอบครองเพื่อตนเองเกินกว่า 1 ปี และโจทก์ก็เบิกความว่า หลังจากนั้นต่อมาได้มีการทิ้งที่ดินพิพาทเป็นป่ารกมานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งสอดคล้องต้องกันกับคำเบิกความของนายคิม วิโรจน์ พนักงานรังวัดที่ดินพยานโจทก์ว่าครั้งแรกที่ไปรังวัดที่ดินไม่อาจรังวัดได้เนื่องจากที่ดินรกยังไม่มีการถาง แต่ครั้งหลังทำการรังวัดได้เพราะมีการถางจนเตียนและมีการปลูกต้นกล้วยเอาไว้ แสดงให้เห็นว่าเพิ่งมีการปลูกต้นกล้วย ภายหลังที่จำเลยคัดค้านการรังวัดแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่มีใครเข้าทำประโยชน์ที่แท้จริง แต่โจทก์ปลูกบ้านอยู่ในบริเวณที่ดินที่นายแบนแจ้งการครอบครองซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทด้วย จึงต้องฟังว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท และที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ยอมรับว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 มิถุนายน 2533 (ที่ถูกคือวันที่ 17 พฤษภาคม 2533)นั้น ศาลฎีกาตรวจดูรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้วไม่ปรากฎว่าโจทก์ยอมรับเช่นนั้น ศาลชั้นต้นเพียงแต่จดรายงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบ โดยเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าและจำเลยเป็นฝ่ายครอบครอง จึงกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนซึ่งเป็นไปตามวิธีการชี้สองสถานเท่านั้น และที่จำเลยฎีกาว่า ควรนำข้อเท็จจริงที่โจทก์ยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกมาจากสถานีตำรวจภูธรตำบลปากคลองรังสิตมาวินิจฉัยด้วยนั้น เห็นว่า แม้จะมีการส่งเอกสารดังกล่าวเข้าสู่สำนวนแล้ว แต่จำเลยก็มิได้นำสืบอ้างถึงเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล อีกทั้งจำนวนมิได้เสียค่าอ้างเอกสารดังกล่าวด้วยจึงไม่อาจนำข้อความในเอกสารดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยได้ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจากคำเบิกความของนายคินพนักงานรังวัดที่ดินพยานโจทก์ว่า จำเลยได้คัดค้านการรังวัดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2532 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2533เกินกว่า 1 ปีแล้ว จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองนั้น เห็นว่าจำเลยให้การว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของบิดามารดาจำเลย เมื่อบิดามารดาตาย จำเลยก็ได้ครอบครองต่อมาโดยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ จึงไม่มีประเด็นเรื่องเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิตามมาตรา 1375 ได้แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยให้ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share