แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลจึงจะรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืน โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตดังกล่าว แม้จะปรากฏจากคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นเยาวชนและ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 13 (4) บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตาม แต่การที่บุคคลจะบรรลุนิติภาวะนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้นั้นเสมอไป เพราะบุคคลอาจบรรลุนิติภาวะก่อนอายุ 20 ปี ได้ด้วยการสมรสด้วย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองอายุไม่ถึง 20 ปี โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าจำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนด้วยเมื่อโจทก์ไม่นำสืบ จึงไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ได้ คงลงโทษได้เพียงฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371, 83 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ,
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 82, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 1 อายุ 15 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 และมาตรา 76 ตามลำดับ เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกคนละ 5 ปี 6 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติให้จำเลยที่ 2 ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ห้ามจำเลยที่ 2 คบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติเสียหายและให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 106 (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2546 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสาม นายนฤพน อ่อนลออ และนายธีรศักดิ์ จันทร์คง นั่งอยู่ที่ศาลาที่พักริมทางบนถนนสายสองพี่น้อง-บางปลาม้า ตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์ 1 คัน ไปจอดใกล้ศาลาดังกล่าว แล้วคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายชักอาวุธปืนพกออกมายิงใส่ผู้เสียหายทั้งสามกับพวก 3 นัด กระสุนปืนทะลุแขนซ้ายของผู้เสียหายที่ 1 ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสามนายนฤพนและนายธีรศักดิ์เป็นประจักษ์พยานเบิกความ ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายทั้งสามด้วยเจตนาฆ่า เมื่อผู้เสียหายทั้งสามไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ โดยวินิจฉัยว่าแม้โจทก์ไม่มีอาวุธปืนมาเป็นวัตถุพยาน แต่จำเลยทั้งสองเป็นเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมไม่อาจได้รับใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนได้นั้น เห็นว่า ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลจึงระรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืน โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตดังกล่าว แม้จะปรากฏจากคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นเยาวชนและพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 13 (4) บัญญัติไว้ว่าห้ามมิให้ออกใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตาม แต่การที่บุคคลจะบรรลุนิติภาวะนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้นั้นเสมอไป เพราะบุคคลอาจบรรลุนิติภาวะก่อนอายุ 20 ปี ได้ด้วยการสมรสด้วย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองอายุไม่ถึง 20 ปี โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าจำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนด้วย เมื่อโจทก์ไม่นำสืบ จึงไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ได้ คงลงโทษได้เพียงฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 83 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำเลยทั้งสองคงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าและฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 371, 83 ให้เรียงกระทงลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่า ลดมาตราส่วนโทษแล้ว จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ ปรับคนละ 50 บาท รวมจำคุกคนละ 5 ปี และปรับคนละ 50 บาท อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 106 (2) รอการลงโทษเฉพาะโทษปรับจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว