คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7160/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีผลทำให้หนี้เป็นอันระงับ ส่วนการแทงเพิกถอนลงในเอกสารอันเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นเรื่องของการนำสืบการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง เป็นคนละกรณีกัน การไม่มีการแทงเพิกถอนลงในเอกสารอันเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินไม่อาจถือได้ว่ายังไม่มีการชำระหนี้ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2545 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 64,743 บาท โดยแปลงหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ใช้หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดน่านแทนจำเลย โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 67,576 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 64,743 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญากู้เงินตามฟ้องแปลงหนี้มาจากสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2538 ซึ่งจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่เคยใช้หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดน่านแทนจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 64,743 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายควม 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า วันที่ 3 สิงหาคม 2545 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 64,743 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า มูลหนี้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดน่านแทนจำเลย หลังจากทำสัญญากู้เงินแล้วจำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่ได้ความจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนที่จะมีการทำสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์อีกฉบับหนึ่งตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.1 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 77/2546 ของศาลชั้นต้นซึ่งสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2538 โดยระบุจำนวนเงินกู้ 138,400 บาท เหตุที่มีการทำสัญญากู้เงินฉบับนี้เนื่องจากโจทก์กู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดน่านเพื่อนำไปให้จำเลย ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2545 จำเลยได้ตรวจสอบยอดหนี้กับโจทก์และทำสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์ไว้ ซึ่งคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่เบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2538 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 138,400 บาท หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยได้ทยอยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และต่อมาได้มีการตรวจสอบยอดหนี้ปรากฏว่าจำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่ จำเลยจึงทำสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ไว้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า หนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2538 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.1 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 77/2546 ของศาลชั้นต้น กับหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม 2545 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ในคดีนี้ เป็นหนี้รายเดียวกัน และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 77/2546 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2538 ว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากมีการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับนี้แล้ว และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว มิให้โต้เถียงเป็นอย่างอื่น คดีจึงรับฟังได้ว่าหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม 2545 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ได้มีการชำระเรียบร้อยแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธินำสัญญากู้เงินฉบับนี้มาฟ้องให้จำเลยผิดอีก ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ยังไม่ได้ถูกแทงเพิกถอนจึงถือไม่ได้ว่าได้มีการชำระหนี้แก่โจทก์แล้วนั้น เห็นว่า เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ได้มีการชำระแล้วดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นก็ย่อมมีผลทำให้หนี้รายนี้เป็นอันระงับลง ส่วนการแทงเพิกถอนลงในเอกสารอันเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นเรื่องของการนำสืบการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน และกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าหากไม่มีการแทงเพิกถอนลงในเอกสารอันเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินแล้วก็ให้ถือว่ายังไม่มีการชำระหนี้ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share