แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานทายาทโดยชอบธรรมของ ถ. ผู้ตายซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้เป็นทายาทโดยชอบธรรมของผู้ตาย แต่ในชั้นพิจารณาปรากฏว่า ทนายโจทก์นำพยานเข้าสืบ 1 ปาก แล้วแถลงขอเลื่อนการพิจารณาไปสืบพยานโจทก์เกี่ยวกับการรับโอนสิทธิเรียกร้อง การมอบอำนาจให้ฟ้องคดี รวมถึงการบอกกล่าวไปยังจำเลยซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย ทนายจำเลยแถลงยอมรับว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยโดยชอบแล้ว คำแถลงของทนายจำเลยย่อมหมายความถึงยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลงว่าจะขอเลื่อนไปสืบพยานในประเด็นที่ว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายแล้ว ไม่อาจแปลว่าเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยเท่านั้น โดยไม่ยอมรับเกี่ยวกับความเป็นทายาทของผู้ตายของจำเลยด้วย จึงฟังได้ว่าจำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องความเป็นทายาทของผู้ตายแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำรับของจำเลย โจทก์จึงไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวอีกต่อไป ตามป.วิ.พ. มาตรา 84 (1)
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยมิใช่ทายาทของผู้ตาย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและคดีมีประเด็นอื่นจำต้องให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยความรับผิดระหว่างโจทก์จำเลยต่อไปตามรูปคดี จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาในประเด็นข้ออื่นดังกล่าวต่อไปตามรูปคดี ตามป.วิ.พ. มาตรา 243 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วง บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ได้มอบอำนาจช่วงให้ นางสาวปองขวัญฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เดิมบริษัทบิ๊ก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นลูกหนี้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 30,000,000 บาท และลูกหนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 5 ครั้ง จำนวน 842,000,000 บาท 200,000,000 บาท 326,000,000 บาท 123,194,550 บาท และ 92,490,000 บาท และลูกหนี้ตามสัญญากู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินวงเงิน 30,000,000 บาท โดยมีนายถนอมเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาบริษัทบิ๊ก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผิดนัดไม่ชำระหนี้ดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาแล้วจึงได้ทวงถามให้ชำระหนี้ และเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 นายถนอมถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นทายาทโดยชอบธรรมมีสิทธิได้รับมรดกและจำเลยมีนางบุศรีย์เป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,224,202,434.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 811,938,989.11 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ไม่ระบุว่าจำเลยเป็นทายาทฐานะใด เป็นฟ้องเคลือบคลุม ลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้เป็นลายมือชื่อปลอม ลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมายังโจทก์เป็นลายมือชื่อปลอมโจทก์จึงไม่ได้รับโอนสิทธิเรียกรัองมาโดยชอบ บริษัทบิ๊ก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ไม่ได้เป็นหนี้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นายถนอมไม่ได้ค้ำประกันหนี้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำเลยไม่ได้เป็นทายาทโดยชอบธรรมของนายถนอมและไม่ได้รับมรดกจากนายถนอม ทั้งโดยกฎหมายไม่ต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี นับแต่นายถนอมตาย บริษัทบิ๊ก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว หนี้ตามฟ้องจึงระงับ สัญญาค้ำประกันย่อมเป็นอันระงับเพราะหนี้เดิมระงับแล้วผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้อง เจ้าหนี้เดิมและโจทก์ผ่อนเวลาให้บริษัทบิ๊ก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้น โจทก์สามารถบังคับเอาแก่บริษัทบิ๊ก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้ไม่เป็นการยาก จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะทายาทโดยชอบธรรมของนายถนอม ผู้ค้ำประกัน ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยความรับผิดระหว่างโจทก์จำเลยต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีเพียงประการเดียวว่า การที่ศาลอุทธรณ์นำเอกสารท้ายคำฟ้องและท้ายคำแถลงขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยมารับฟังว่าจำเลยเป็นทายาทของนายถนอมผู้ค้ำประกันนั้นชอบด้วยการรับฟังพยานหลักฐานหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะทายาทโดยชอบธรรมของนายถนอม ผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามฟ้อง แม้จำเลยให้การปฎิเสธว่าจำเลยไม่ได้เป็นทายาทโดยชอบธรรมของผู้ตาย แต่ในชั้นพิจารณาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ว่า ทนายโจทก์นำพยานเข้าสืบเสร็จ 1 ปาก แล้วแถลงขอเลื่อนการพิจารณาไปสืบพยานโจทก์เกี่ยวกับการรับโอนสิทธิเรียกร้อง การมอบอำนาจให้ฟ้องคดี รวมถึงการบอกกล่าวไปยังจำเลยซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามฟ้อง ศาลชั้นต้นได้สอบทนายจำเลยแล้ว ทนายจำเลยแถลงยอมรับว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยโดยชอบแล้ว คำแถลงของทนายจำเลยดังกล่าว ย่อมหมายความถึงยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลงว่าจะขอเลื่อนไปสืบพยานในประเด็นที่ว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายแล้ว ไม่อาจแปลว่าเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยเท่านั้น โดยไม่ยอมรับเกี่ยวกับความเป็นทายาทของผู้ตายของจำเลยด้วย มิฉะนั้นทนายจำเลยชอบที่จะแถลงต่อศาลว่าจะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ขอเลื่อนไปสืบพยานนั้นว่า จะยอมรับข้อเท็จจริงใดไม่ยอมรับข้อเท็จจริงใดให้ปรากฏโดยชัดแจ้ง คำแถลงยอมรับข้อเท็จจริงของจำเลยจึงฟังได้ว่า จำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องความเป็นทายาทของผู้ตายแล้วข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำรับของจำเลยดังกล่าว โจทก์จึงไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (1) การที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยเป็นทายาทของผู้ตายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยมิใช่ทายาทของผู้ตาย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและคดีมีประเด็นอื่นจำต้องให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยความรับผิดระหว่างโจทก์จำเลยต่อไปตามรูปคดี กรณีเช่นนี้ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาในประเด็นข้ออื่นดังกล่าวต่อไปตามรูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ