คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7158/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีข้าราชการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 10 บัญญัติให้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น หมายถึงอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทกำหนดโทษหาใช่เป็นบทเพิ่มโทษไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยให้เพิ่มโทษเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 10 จึงไม่ถูกต้อง
จำเลยที่ 1 เป็นสามีของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ขณะถูกจับกุมจำเลยที่ 1 รับว่าเงินสดที่ค้นพบบริเวณลิ้นชักหัวเตียงได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งเตรียมไว้ซื้อ กับยังนำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนไว้อีก จึงเชื่อได้ว่าตลอดเวลาที่จำเลยที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 1มีส่วนรู้เห็นด้วย จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 103 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 3, 4, 10, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง(ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกคนละ 7 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกคนละ 5 ปี เพิ่มโทษสำหรับจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 กระทงละสามเท่ารวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 36 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กระทงละกึ่งหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยที่ 3 กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี12 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 7 ปี 12 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางคืนธนบัตรจำนวน 500 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตามฟ้อง ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์ สีแดง และสิบตำรวจโทประกิต แปงการิยาผู้ร่วมจับกุมเบิกความว่า ร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์ขับรถยนต์เข้าไปในบ้านและจับกุมจำเลยที่ 3 โดยสิบตำรวจโทประกิตเข้าไปสมทบและร่วมกันคุมตัวจำเลยที่ 3 เข้าไปในบ้านพบจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะนั้นจำเลยที่ 1 นอนหลับอยู่จึงปลุกให้ตื่นและแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจพร้อมกับหมายค้นขอทำการตรวจค้นพบธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 5 ฉบับที่ใช้ล่อซื้ออยู่ในกระเป๋าเสื้อที่จำเลยที่ 2 สวมอยู่ จำเลยที่ 2 รับว่าได้ธนบัตรดังกล่าวมาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไปเมื่อครู่ และจำเลยที่ 3 รับว่าเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวแล้วนำเงินที่จำหน่ายได้มามอบให้แก่จำเลยที่ 2 และตรวจค้นพบเงินสดจำนวน24,320 บาท อยู่บริเวณลิ้นชักหัวเตียงนอน จากการสอบถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและเตรียมไว้เพื่อจะนำไปซื้อเมทแอมเฟตามีน ร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์เกลี้ยกล่อมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกที่ซ่อนเมทแอมเฟตามีนที่เหลือ จำเลยที่ 1 และที่ 2 พาไปที่หลังบ้านบริเวณห้องน้ำแล้วจำเลยที่ 1 ปืนขึ้นไปล้วงเอาเมทแอมเฟตามีนบรรจุในหลอดพลาสติกปิดหัวท้ายจำนวน 13 หลอด หลอดละ 10 เม็ด ห่อด้วยถุงพลาสติกมียางรัดซึ่งซุกซ่อนอยู่ในแผงครอบหลอดไฟฟ้าบนเพดานบริเวณห้องน้ำออกมามอบให้โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการจำหน่าย เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติงานไปตามหน้าที่และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะปรักปรำให้ร้ายจำเลยที่ 1 เชื่อว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความไปตามความจริง แม้ขณะทำการจับกุมคดีนี้จำเลยที่ 1 นอนหลับอยู่ แต่จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 ซึ่งมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วยกันมาก่อน ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับต่อพยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมว่าเงินสดจำนวน 24,320 บาท ที่ตรวจค้นพบบริเวณลิ้นชักหัวเตียงนอนได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและเตรียมไว้เพื่อจะนำไปซื้อเมทแอมเฟตามีนและยังนำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนไว้อีกจึงเชื่อได้ว่าตลอดเวลาที่จำเลยที่ 2จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำเลยที่ 1 มีส่วนรู้เห็นด้วย จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 นั้นได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง ในกรณีที่ข้าราชการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 บัญญัติให้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น หมายถึงอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทกำหนดโทษหาใช่เป็นบทเพิ่มโทษไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยให้เพิ่มโทษเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 10 จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 21 ปีฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 15 ปี รวมจำคุก 36 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share