แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้น ครั้งแรก ที่ให้อายัดที่ดินของจำเลยที่ 1 กับคำสั่งครั้งที่สองที่ให้อายัดเงินที่ จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอบังคับให้ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งศาลมีคำสั่งห้ามทำนิติกรรมชั่วคราว และคำสั่งให้อายัดเงินสุทธิที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิ จะได้รับจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว คงมีผลบังคับเฉพาะแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้มีผลบังคับถึง จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิที่จะ อุทธรณ์ฎีกาคำสั่งดังกล่าว
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาครั้งแรกดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำขอให้ยกเลิกคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสอง หรือ ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 228 วรรคสอง คำสั่งดังกล่าวจึงถึงที่สุด ที่ดินที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งอายัดชั่วคราวจึงเป็นหลักประกันเบื้องต้นในการที่โจทก์ จะบังคับคดีได้ เมื่อต่อมาปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์ ได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษา ของจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวจนทำให้คำสั่งอายัดที่ดินชั่วคราวไร้ผล และทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงิน จากการบังคับคดีของเจ้าหนี้ จึงถือเสมือนว่าเงินจำนวนดังกล่าว เป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาแทนที่ที่ดินที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัด ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ประกอบกับเงินเป็นทรัพย์ที่สามารถยักย้าย ถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นโดยง่าย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมี คำสั่งให้อายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา
การขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาครั้งแรก โจทก์ขอให้อายัด ที่ดินของจำเลยที่ 1 ส่วนการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาครั้งที่สอง โจทก์ขอให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากการที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 บังคับคดีให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ถูกอายัดให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลัง เป็นคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 146,000,000 บาท แบ่งเป็นวงเงินกู้ค่าที่ดิน 50,000,000บาท และวงเงินกู้ค่าพัฒนาและก่อสร้าง 96,000,000 บาท โดยวงเงินกู้ค่าพัฒนาและก่อสร้างจำเลยที่ 1 จะเบิกได้ต่อเมื่อได้พัฒนาและหรือก่อสร้างในที่ดินตามโครงการ “หมู่บ้านกฤษติญา วิลล่า” ตามผังงานแต่ละงวดไม่เกินร้อยละ 60 ของเนื้องานที่ทำแล้ว จำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยโจทก์ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีข้อกำหนดชำระเป็นรายเดือนทุก ๆ วันทำการสุดท้ายหากผิดน้อยยอมให้เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี และคิดดอกเบี้ยทบต้นในดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงขอกู้เงินค่าพัฒนาและก่อสร้างเป็นกรณีพิเศษจำนวน 10,000,000 บาท และได้รับเงินไปแล้ว จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกไปจากโจทก์ 19 ครั้ง รวมเป็นเงิน 126,045,400 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ทำสัญญาค้ำประกันสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองครั้งและยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1อย่างลูกหนี้ร่วม ในการนี้จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์หลายครั้งเพื่อประกันหนี้ ต่อมาได้นำที่ดินทั้งหมดมารวมกันแล้วรังวัดแบ่งแยกออกเป็นจำนวน 382 แปลง เป็นโฉนดที่ดินจำนวน 382 ฉบับ หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ขอนำโฉนดที่ดินไปจดทะเบียนปลอดภาระจำนองเพื่อดำเนินการประทับตราจัดสรร จำนวน 209 ฉบับ คงเหลือโฉนดที่ดินที่ติดภารจำนองเพียง 173 ฉบับ บัดนี้สัญญากู้ยืมเงินครบกำหนดชำระแล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้รวมต้นเงินและดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 217,921,606.45บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องและบังคับจำนองทรัพย์ของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสี่ให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินตามฟ้องในระยะแรก ๆโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 จนสามารถก่อสร้างบ้านในโครงการไปแล้วกว่าร้อยละ78 ต่อมาโจทก์ ระงับการเบิกจ่ายค่าก่อสร้างทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ต้องใช้เงินอีก 21,354,000 บาทเต็มตามจำนวนที่ขอกู้ตามโครงการ แต่โจทก์ไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกจ่ายจำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถก่อสร้างบ้านจนเสร็จสมบูรณ์และโอนให้แก่ลูกค้าตามกำหนด เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา หนี้ค่าดอกเบี้ยเกิดขึ้นจากความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ไปทั้งสิ้น 140,000,000 บาท จึงไม่มีหนี้สินต่อกันอีก จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อไป ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 1033, 37911 ถึง38073, 38097 ถึง 39137, 38175, 38176, 38261 ถึง 38272, 38274,38275 และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1034 ถึง 1041,1049, 1050, 4693, 22520, 33284, 38074 ถึง 38096, 38138 ถึง38174, 38177 ถึง 38260, 38273, 38276, 38277, 22519, 22522,1045 และ 16142 แก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ชำระหนี้ดอกเบี้ยตามกำหนดระยะเวลา รวมทั้งการชำระหนี้คืนทั้งหมดจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องแย้ง แต่ชำระหนี้เพียงบางส่วนและไม่เคยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ที่จะจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินที่จำเลยที่ 1 ได้นำมาให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันหากปล่อยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการต่อไปจะทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ทั้งหมด จึงขอให้ยึดหรือห้ามทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของจำเลยที่ 1 รวม 96 แปลง ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้ว มีคำสั่งในวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ให้อายัดที่ดิน ตำบลบางคูวัด (บางคูวัดเหนือ)อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ของจำเลยที่ 1 รวม 96 แปลง รวมทั้งอายัดเงิน 396,100 บาท ของนางปราณี นุ่มพันธ์ ซึ่งวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 786/2539 ของศาลชั้นต้น และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีระงับการจดทะเบียนหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่เกี่ยวกับโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้ง 96ฉบับ ดังกล่าวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหาย 1,000,000 บาทก่อนออกหมายหรือหนังสือแจ้ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก แจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 นางปราณี นุ่มพันธ์ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีทราบไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์2541 โจทก์ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเป็นครั้งที่สองว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดที่ดินทั้ง 96 แปลง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ไปแล้วนั้น แต่การคุ้มครองดังกล่าวไม่สามารถหยุดการฉ้อโกงของจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากตามข้อตกลงหากประสงค์จะโอนขายที่ดินให้แก่ลูกค้า จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้คืนโจทก์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของราคาขายตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ จึงจะนำโฉนดที่ดินจากโจทก์ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์แก่ลูกค้าได้แต่จำเลยที่ 1 ดำเนินการฉ้อโกงโจทก์ด้วยการร่วมมือกับลูกค้าผู้ซื้อบ้านขอใบแทนโฉนดที่ดิน ครั้งเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1ร่วมกับผู้ซื้อใช้วิธีการทางศาล เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราว ดังปรากฏในสำนวนการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการตั้งใจที่จะโอนขายที่ดินดังกล่าวหากโจทก์ชนะคดีแล้วจะไม่สามารถบังคับคดีแก่ที่ดินทั้ง 96 แปลง ได้ เพื่อบรรเทาความเสียหายของโจทก์ และหยุดการกระทำของจำเลยที่ 1 ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้จากการโอนขายที่ดินที่ขออายัดทั้ง 96 แปลง คือขอให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากนางพรรณภา กาญจนะ, นางสาวสุนทรี ชะโรจน์บวร, นางเพ็ญใจ จันทร์หอมกุล, นายประทีป เกิดชูชื่น, นายสฤษดิ์ กิตติสาภรณ์, นายสมัย วรรณสี และนางสาวอัญชลี เพ็ชรวงศ์ เพื่อชำระราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 38042, 38066, 38013, 37925, 37924, 38005 และ 37928 เป็นจำนวนเงิน 572,500 บาท, 470,000 บาท, 244,050 บาท, 216,000 บาท, 920,000 บาท, 450,735 บาท และ 302,500 บาท ตามลำดับ ขอให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากการโอนขายที่ดินที่โจทก์ขออายัดทั้งหมดโดยให้แจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี เพื่อดำเนินการอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวและส่งเงินเข้ามาในสำนวนคดีนี้ หากมีการบังคับคดียึดที่ดินโฉนดที่โจทก์ขออายัดดังกล่าวออกขายทอดตลาด เมื่อหักค่าฤชาธรรมเนียมค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีและหักชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นแล้วหากมีเงินเหลือ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดปทุมธานีส่งเงินที่เหลือเข้ามาในสำนวนคดีนี้
ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้ว มีคำสั่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 ให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมให้คดี ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ศาลได้มีคำสั่งห้ามทำนิติกรรมชั่วคราวไว้จำนวน 96 แปลง และให้อายัดเงินสุทธิที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำสำนักงานบังคับคดีจังหวัดปทุมธานีอันเนื่องมาจากการขายทอดตลาดที่ดินในจำนวน 96 แปลง ดังกล่าว ไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น อนึ่งบรรดารายชื่อของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและภูมิลำเนา ให้ถือตามคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวละหนังสือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีในสำนวน
จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางไต่สวนได้ความว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ให้อายัดที่ดินของจำเลยที่ 1 จำนวน 96 แปลง ไว้เป็นการชั่วคราวแล้ว โจทก์ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดปทุมธานีว่า ผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 บางรายได้ยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 38066, 37925, 38005, 37928 และ 37962 เนื่องจากผู้ซื้อที่ดินได้ฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ภายใน 7 วัน แต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดผู้ซื้อจึงขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม และโจทก์ทราบว่าผู้ร้องประมาณ 7 ราย ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวโดยบางรายซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้รับชำระราคาซื้อขายที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวในอัตราร้อยละ 65 ตามข้อตกลงทั้งนี้จำเลยที่ 1 กับพวกผิดสัญญาสมคบกันโอนขายที่ดินดังกล่าวโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบและไม่นำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ขอให้สั่งอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากลูกหนี้ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดหรือลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม และหากมีการยึดทรัพย์บังคับคดีเอาแก่ที่ดินแปลงใดเพื่อนำออกขายทอดตลาด ขอให้อายัดเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาด
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้นครั้งแรกลงวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ที่ให้อายัดที่ดินของจำเลยที่ 1รวม 96 แปลง กับอายัดเงินจำนวน 386,100 บาท ที่นางปราณี นุ่มพันธ์นำมาวางต่อศาล เพื่อชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 กับคำสั่งครั้งที่สองลงวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2541 ที่ให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 96แปลง ซึ่งศาลมีคำสั่งห้ามทำนิติกรรมชั่วคราว และคำสั่งให้อายัดเงินสุทธิที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว คงมีผลบังคับเฉพาะแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้มีผลบังคับถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการไม่ชอบ
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่ามีเหตุสมควรยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2541 ที่ได้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับตามคำร้องขอของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้ทำการไต่สวน และมีคำสั่งให้อายัดที่ดินของจำเลยที่ 1 รวม 96 แปลงไว้เป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ตามคำร้องขอของโจทก์ โดยศาลชั้นต้นเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มีมูลและมีเหตุผลเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่โจทก์ขอมาใช้ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิได้ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 267 วรรคสอง หรือใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 228 วรรคสอง คำสั่งดังกล่าวจึงถึงที่สุด ที่ดิน 96 แปลงที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดชั่วคราว จึงเป็นหลักประกันเบื้องต้นในการที่โจทก์จะบังคับคดีได้เมื่อต่อมาปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นอายัดชั่วคราวได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1ได้ใช้สิทธิบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวจนทำให้คำสั่งอายัดที่ดินชั่วคราวไร้ผลและทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินจากการบังคับคดีของเจ้าหนี้ จึงถือเสมือนว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาแทนที่ที่ดินที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาประกอบกับเงินเป็นทรัพย์ที่สามารถยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นโดยง่าย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ส่วนที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า การที่โจทก์ยึดถือโฉนดที่ดิน 96 ฉบับ ที่จดทะเบียนปลอดจำนองเป็นการขัดต่อกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18และจำเลยที่ 1 มีสิทธิติดตามเอาคืนและขัดขวางมิให้โจทก์เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดที่ดิน 96แปลงไว้เป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษานั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน จนคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดดังได้วินิจฉัยมาแล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาต่อไป แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งที่สองเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 นั้น เห็นว่า การขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาครั้งแรก โจทก์ขอให้อายัดที่ดิน 96 แปลง ของจำเลยที่ 1 ส่วนการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาครั้งที่สอง โจทก์ขอให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากการที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 บังคับคดี ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกอายัดให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังเป็นคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า คำสั่งอายัดเงินได้ส่วนที่เหลือของจำเลยที่ 1โดยมิได้หักภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรที่จำต้องเสียตามกฎหมายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ศาลได้มีคำสั่งอายัดชั่วคราว และให้อายัดเงินสุทธิที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากการขายทอดตลาดที่ดินที่มีคำสั่งอายัดชั่วคราวนั้นย่อมหมายถึงเงินสุทธิที่เหลือในการบังคับคดีดังกล่าวหลังจากได้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามกฎหมายแล้ว ส่วนการที่ฝ่ายใดจะต้องเสียภาษีเงินได้หรือจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการโอนอย่างไร ก็เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คำสั่งอายัดเงินของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 มิใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่ยกขึ้นวินิจฉัยให้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืนเฉพาะที่เกี่ยวกับฎีกาของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ และให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 กับให้ยกฎีกาจำเลยที่ 4 คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 4