แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เดิมจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ส. เป็นการซื้อขายสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหลักฐาน ภ.บ.ท. 5 และจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกไม้ยืนต้น จำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามตนเองและ ส. ผู้ขายตลอดมา ต่อมาจำเลยได้ยื่นขอสิทธิทำกินในที่ดินพิพาท จำเลยได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าครอบครองที่ดินพิพาทจำนวน 19 ไร่ พนักงานเจ้าหน้าที่บอกว่ายื่นขอสิทธิทำกินได้ไม่เกินคนละ 15 ไร่ จำเลยจึงให้ ช. บุตรชายยื่นคำขอสิทธิทำกินอีก 1 แปลง จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา
ต่อมาโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลย ขณะที่โจทก์ทำสัญญาที่ดินพิพาทยังมีชื่อจำเลยเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ เมื่อโจทก์ชำระราคาแล้วได้มีการเปลี่ยนชื่อใน ภ.บ.ท. 5 จากจำเลยเป็น อ. การซื้อขายที่ดินพิพาทเกิดจากความสมัครใจของคู่สัญญาตามความเป็นจริง และโจทก์ได้เข้าครอบครองโดยทำรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาทแล้ว แม้ตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันย่อมมีสิทธิขายการครอบครองและพืชผลที่ปลูกอยู่แล้วในที่ดินและมีหน้าที่ส่งมอบการครอบครองพืชผลที่ปลูกนั้นให้แก่กัน ทั้งประกาศสำนักงานป่าไม้ที่ระบุว่า พื้นที่ สทก. ที่ได้รับอนุญาตห้ามจำหน่ายจ่ายโอน แต่ให้ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทได้ ก็เพิ่งประกาศใช้หลังจากสัญญาเป็นผลระหว่างคู่สัญญาไปแล้ว นอกจากนี้ข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวกระทำโดยประกาศของทางราชการมิใช่โดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมไม่เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะเป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสี่ จึงไม่ถูกต้องเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 4 มิได้อุทธรณ์ด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2533 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2533 ติดต่อกัน จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จเนื่องจากทราบดีว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคทางสมองเส้นโลหิตฝอยในสมองตีบและอยู่ในระหว่างการดูแลของแพทย์ โดยจำเลยที่ 4 อ้างตนเองว่าเป็นร่างทรงของเจ้าพ่อกุมารทอง หลอกลวงโจทก์ให้ซื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 ตั้งอยู่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 19 ไร่ ในราคา 2,000,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นที่ดินเก่าซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ปางกว้าง” ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตงมาขายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เคยยื่นคำร้องขอรับหนังสือสิทธิทำกินในที่ดินเพียง 4 ไร่เศษ ผู้ที่ได้รับหนังสือสิทธิทำกินจะจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่ผู้ใดไม่ได้เว้นแต่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ทั้งต้องไม่ยินยอมให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในครอบครัวซึ่งอยู่ด้วยกันกับผู้ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ โดยต้องทำประโยชน์ในพื้นที่ด้วยตนเองตามประกาศสำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ เรื่องเงื่อนไขหนังสืออนุญาต สทก. ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2533 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการละเมิดต่อโจทก์เงินที่จำเลยทั้งสี่รับไปจำนวน 2,000,000 บาท เป็นลาภมิควรได้จะต้องคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราชั่งละบาทต่อเดือนนับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ นับจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 15 เดือน 15 วัน คิดเป็นเงินดอกเบี้ย 32,291.66 บาท รวมเป็นเงิน 2,032,291.66 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,032,291.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราชั่งละบาทต่อเดือนในต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 2,000,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินไม่ครบถ้วนแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายสม เมื่อปี 2520 เป็นการซื้อขายสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหลักฐาน ภ.บ.ท.5 และจำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกไม้ยืนต้นประเภทมะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย และมะพร้าว จำเลยที่ 1 เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามตนเองและนายสมตลอดมา ต่อมาปี 2529 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอสิทธิทำกินในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าครอบครองที่ดินพิพาทจำนวน 19 ไร่ พนักงานเจ้าหน้าที่บอกว่ายื่นขอสิทธิทำกินได้ไม่เกินคนละ 15 ไร่ จำเลยที่ 1 จึงให้นายชัยวัฒน์ บุตรยื่นขอสิทธิทำกินอีก 1 แปลง ตามคำขอหนังสือสิทธิทำกินเอกสารหมาย ล.7 จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ขณะที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.10 หรือตามสัญญาจะซื้อจะขาย ตามเอกสารหมาย จ.11 นั้น ที่ดินพิพาทยังมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ เมื่อโจทก์ชำระราคาแล้วได้มีการเปลี่ยนชื่อใน ภ.บ.ท.5 จากจำเลยที่ 1 เป็น นายอรรจน์ การซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งกระทำเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2533 จึงเกิดจากความสมัครใจของคู่สัญญาตามความเป็นจริง และโจทก์ได้เข้าครอบครองโดยทำรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาทแล้ว ดังนี้ แม้ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันย่อมมีสิทธิขายการครอบครองและพืชผลที่ปลูกอยู่แล้วในที่ดินและมีหน้าที่ส่งมอบการครอบครองพืชผลที่ปลูกนั้นให้แก่กัน ทั้งประกาศสำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ เรื่อง เงื่อนไขหนังสืออนุญาต สทก. ข้อ 1 ที่ระบุว่า พื้นที่ สทก. ที่ได้รับอนุญาตห้ามจำหน่ายจ่ายโอน แต่ให้ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทได้ เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2533 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากสัญญาเป็นผลระหว่างคู่สัญญาไปแล้ว นอกจากนี้ข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวกระทำโดยประกาศของทางราชการมิใช่โดยกฎหมาย ดังนั้นสัญญาซื้อขายการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติแม่แตงดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะเป็นโมฆะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้ออื่นของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
อนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสี่นั้น ยังไม่ถูกต้องเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 4 มิได้อุทธรณ์ด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 2 และที่ 4