คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7150/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 22 วรรคห้า ให้ถือระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัดและภายหลังนั้นเป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบทรัพย์สินว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือไม่ ดังนั้น ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองที่ได้มาหลังวันเกิดเหตุ แต่อยู่ในระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัดและภายหลังนั้น ย่อมเข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูกตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ หากทรัพย์สินที่ได้มาหลังวันเกิดเหตุไม่เข้าหลักเกณฑ์ถูกตรวจสอบตามที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาแล้วย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติที่ว่าต้องการให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองชั่วคราว ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2548 และมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวเพิ่มเติมอีกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2548 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และวันที่ 9 พฤษภาคม. 2550 ผู้คัดค้านทั้งสองนำสืบว่าได้รับทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดมาในระหว่างปี 2540 ถึงปี 2550 จึงอยู่ในระหว่างระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัด ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมเข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูกตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินทั้งยี่สิบรายการให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 15, 22, 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องหรือมีคำสั่งให้งดการไต่สวนไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินรวม 20 รายการ ได้แก่ 1. สร้อยคอทองลายสี่เหลี่ยมโซ่ 1 เส้น 2. สร้อยคอทอง 3 ตุ่ม ลายสี่เสา 1 เส้น 3. สร้อยข้อมือทองลายหัวมังกร 1 เส้น 4. พระสมเด็จพิมพ์วัดปากน้ำพร้อมกรอบทอง 1 องค์ 5. รูปหล่อสมเด็จโตพร้อมกรอบทอง 1 องค์ 6. พระนางพญาพร้อมกรอบทอง 1 องค์ 7. พระรูปหยดน้ำเนื้อผงพร้อมกรอบทอง 1 องค์ 8. เหรียญรัชกาลที่ 5 พร้อมกรอบทอง 1 องค์ 9. โทรทัศน์สียี่ห้อซันโย ขนาด 21 นิ้ว 1 เครื่อง 10. โทรทัศน์สียี่ห้อซัมซุง ขนาด 21 นิ้ว 1 เครื่อง 11. โทรทัศน์สียี่ห้อฮิตาชิ ขนาด 21 นิ้ว 1 เครื่อง 12. เครื่องเสียงยี่ห้อไพโอเนียร์ รุ่น A 880 จำนวน 1 เครื่อง 13. คอมพิวเตอร์ 14. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลยี่ห้อฟอร์ด หมายเลขทะเบียน บจ 565 สิงห์บุรี 15. เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 16. เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) 17. เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 18. ที่ดินโฉนดเลขที่ 57056 เลขที่ดิน 514 ตำบลโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 19. ที่ดินโฉนดเลขที่ 5052 เลขที่ดิน 77 ตำบลโพสังโฆ อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี 20. ที่ดินโฉนดเลขที่ 3661 เลขที่ดิน 54 ตำบลโพสังโฆ อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนทรัพย์สินรายการที่ 15 และที่ 16 ตามสำเนาคำสั่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองไม่โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า ผู้คัดค้านทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันตั้งแต่ปี 2544 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2548 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 ข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตพร้อมกับยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองหลายรายการ ตามสำเนาหมายจับและสำเนาบันทึกการจับกุม – ตรวจค้น ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่าทรัพย์สินบางรายการเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัด 20 รายการ วันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกผู้คัดค้านที่ 1 ตลอดชีวิต
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองว่า ทรัพย์สินที่จะถูกตรวจสอบว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นหมายถึงเฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาก่อนวันเกิดเหตุหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ถ้าผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด… ให้คณะกรรมการสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น…” และวรรคห้า บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ตามมาตรานี้ คำว่า “ทรัพย์สิน” ให้หมายความรวมถึง (3) ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหาที่ได้รับ ขาย จำหน่าย โอนหรือยักย้ายไปเสียในระหว่างระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัดและภายหลังนั้น เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะพิสูจน์ต่อคณะกรรมการได้ว่าการโอนหรือการกระทำนั้นได้กระทำไปโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน” ดังนี้ แสดงว่ากฎหมายให้ถือระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัดและภายหลังนั้นเป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบทรัพย์สินว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือไม่ ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองที่ได้มาหลังวันเกิดเหตุแต่อยู่ในระหว่างระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัดและภายหลังนั้นย่อมเข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูกตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ หากทรัพย์สินที่ได้มาหลังวันเกิดเหตุไม่เข้าหลักเกณฑ์ถูกตรวจสอบอย่างที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาแล้วย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติที่ว่าต้องการให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองชั่วคราว ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2548 และมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองชั่วคราวเพิ่มเติมอีกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2548 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 ผู้คัดค้านทั้งสองนำสืบว่าได้รับทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดมาในระหว่างปี 2540 ถึงปี 2548 จึงอยู่ในระหว่างระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัด ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมเข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูกตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share