แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งห้าเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยแต่ละคนมีตำแหน่งอะไร มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์อย่างไร และจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับในเรื่องอะไรเมื่อใด และทำอย่างไร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในการกระทำแต่ละครั้งเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่มีข้อความใดเคลือบคลุมอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหา ทั้งตามคำให้การของจำเลยทั้งห้าก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าไม่เข้าใจข้อหาในตอนใด จึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้ากับบุคคลอื่นเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในมูลละเมิด แต่ศาลแพ่งได้จำหน่ายคดีของโจทก์เฉพาะ จำเลยทั้งห้าออกจากสารบบความ เพราะได้มีคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าเกิดจากมูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง เช่นนี้ โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีใหม่ต่อ ศาลแรงงานกลางในเรื่องใด ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าต้องฟ้องตามเรื่องเดิม
คำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ โดยร่วมกันทำเรื่องเสนอและอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนิน ธุรกิจให้แก่ ว. เป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ. 2518 ที่แก้ไขแล้ว จึงเป็นการฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงาน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงแห่งการจ้างซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
ข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนิน ธุรกิจ พ.ศ. 2518 ข้อ 5 กำหนดให้จ่ายเงินค่าดำเนิน ธุรกิจแก่พนักงานเดินตลาดและบุคคลอื่นในกรณีที่เป็นผู้ติดต่อแนะนำลูกค้ามาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของโจทก์ เมื่อการสั่งซื้อ สั่งจ้างผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปตามฟ้องจากโจทก์ของหน่วยงานในกองทัพบก เป็นการสั่งซื้อ สั่งจ้าง โดยตรงไม่ผ่านการติดต่อ ของ ว. ว. จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าดำเนินธุรกิจ การที่จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันเสนอและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่ ว. จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว
ข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ. 2518 นอกจากกำหนดไว้ในข้อ 5 ดังกล่าวแล้วในข้อ 7 กำหนดไว้ว่า ให้พนักงานเดินตลาดหรือบุคคลอื่นนำหลักฐานขอซื้อผลิตภัณฑ์ของลูกค้าซึ่งตนเป็นผู้ติดต่อแนะนำนั้นเสนอต่อแผนกขายเพื่อพิจารณาตรวจสอบการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกขายได้ทำบันทึกข้อความเสนอเรื่องให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจโดยไม่มีผู้มาขอรับและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจพิจารณาเสนอให้จ่ายเงินดังกล่าวได้โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานให้ได้ความชัดเจนก่อนว่า การจำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่ละครั้งตามฟ้องได้มีผู้มาติดต่อแนะนำลูกค้ามาซื้อ จริงหรือไม่ และ ว. มีสิทธิได้รับเงินค่าดำเนินธุรกิจหรือไม่ทั้ง ว. ก็ไม่เคยทำเรื่องเป็นหลักฐานขอรับเงินค่าดำเนินธุรกิจเลย และตาม หลักฐานที่เสนอขออนุมัติเบิกเงินดังกล่าวส่วนหนึ่งระบุให้จ่ายแก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของกองทัพบกผู้สั่งซื้อ สั่งจ้างผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปตามฟ้องของโจทก์ อีกส่วนหนึ่งก็ระบุเพียงว่าให้จ่ายแก่ผู้ดำเนินการติดต่อโดยไม่ได้ระบุชื่อผู้มีสิทธิรับเงิน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 5 ซึ่งรักษาการผู้อำนวยการโจทก์สั่งอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้ไปโดยความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัด และไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาให้แก่โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ ที่แก้ไขแล้ว เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การพิจารณาเสนอและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบ และทางปฏิบัติ ทั้งได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ และไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งห้าต่างอุทธรณ์ซึ่งพอสรุปอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ อุทธรณ์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พิเคราะห์คำฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยทั้งห้าเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยแต่ละคนมีตำแหน่งอะไร มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์อย่างไร และจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับในเรื่องอะไร เมื่อใด และทำอย่างไร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในการกรทำแต่ละครั้งเป็นจำนวนเงินเท่าใด ไม่มีข้อความใดเคลือบคลุมอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหา และตามคำให้การของจำเลยทั้งห้าก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าไม่เข้าใจข้อหาในตอนใด คำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
อุทธรณ์ข้อสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ กล่าวคือ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้ากับบุคคลอื่นเป็นจำเลยต่อศาลแห่งตามคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๘๔๘/๒๕๒๘ ในมูลละเมิด และเรียกค่าเสียหาย ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๘(๕) จึงส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพาษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าเป็นคดีอันเกิดจากมูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยทั้งห้า โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ โดยเพิ่มเติมสาเหตุว่าจำเลยทั้งห้าทำการผิดสัญญาจ้างโดยไม่ฟ้องตามคำฟ้องเดิมที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ไม่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์จะได้เพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์ก็มีประเด็นสำคัญเป็นเรื่องละเมิด จึงมีอายุความ ๑ ปี เมื่อโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๕ แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องที่ศาลแพ่งในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๘ คดีจึงขาดอายุความพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อศาลแพ่งจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยทั้งห้าออกจากสารบบความแล้ว โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีใหม่ต่อศาลแรงงานกลางในเรื่องใด ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ว่าต้องฟ้องตามเรื่องเดิม และตามเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้านั้นเป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๑๙ โดยร่วมกันทำเรื่องเสนอและอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่ นายวีรวัฒน์ ธิดารัตนกุล ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อบังคับดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงาน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงแห่งการจ้าง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๔ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้ายังไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้าง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
อุทธรณ์ข้อสามว่า ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ.๒๔๙๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๖ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๙ มาตรา ๑๓, ๑๕ ได้ให้อำนาจคณะกรรมการองค์การโจทก์มีอำนาจหน้าที่วางนโยบาย ควบคุมดูกลกิจการองค์การโจทก์คณะกรรมการดังกล่าวได้ดำเนินการประชุมทุกเดือน บรรดามติของคณะกรรมการ ซึ่งผู้อำนวยการของโจทก์ต้องปฏิบัติตาม เกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจคดีนี้ คณะกรรมการได้ประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๒๕/๑๙๔ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๕ ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.๑/๓ ว่า การจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว จึงต้องถือว่าการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการถูกต้องตามข้อบังคับ และถือว่าเป็นการให้สัตยาบันแล้ว จำเลยทั้งห้าไม่ต้องรับผิด และโจทก์ต้องปฏิบัติตามมติดังกล่าว ไม่สามารถหยิบยกมาฟ้องเป็นคดีได้อีก นั้น เห็นว่าตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ ข้อ ๕ ให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่พนักงานเดินตลาดและบุคคลอื่นในกรณีที่เป็นผู้ติดต่อแนะนำลูกค้ามาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของค์การโจทก์และข้อเท็จจริงคดีนี้ ศาลแรงงานกลางได้ฟังว่า ในการสั่งซื้อสั่งจ้างผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปตามฟ้องจากโจทก์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) และกรมพลาธิการทหารบก (พธ.ทบ.) เป็นการสั่งซื้อสั่งจ้างโดยตรง ไม่ผ่านการติดต่อของนายวีวัฒน์ นายวีรวัฒน์ไม่มีสิทธิได้รับค่าดำเนินธุรกิจ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา การที่จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันเสนอและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่นายวีรวัฒน์ จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวของโจทก์ และตามรายงานการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๒๕/๑๙๔ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๕ เอกสารหมาย ล.๑/๓ ที่จำเลยอ้างถึงนั้นเป็นเรื่องการพิจารณาว่าด้วยการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ และมีการแก้ไขตามรายงานการประชุมครั้งที่ ๑๓/๒๕๒๕/๑๙๖ เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๕ เอกสารหมาย จ.๗๐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประธานที่ประชุมได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่า การจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจที่รอง ผอ.อสร.รักษาการหัวหน้าฝ่ายการค้า (นายถนัดชัย วัลลิสุต) เป็นผู้ไปติดต่อประสานงานกับหน่วยงานนั้น ๆ ด้วยตนเองทั้งสิ้นจึงควรเป็นผู้รับเงินค่าดำเนินธุรกิจตามข้อบังคับและที่ประชุมมีมติให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อบังคับ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่นายวีรวัฒน์คดีนี้ การจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจแต่ละรายการจะถูกต้องตามข้อบังคับของโจทก์หรือไม่อย่างไร ต้องพิจารณาถึงการจ่ายในเรื่องนั้น ๆ เป็นราย ๆ ไป และไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดที่ให้อำนาจคณะกรรมการให้สัตยาบันในการดำเนินงานที่ฝ่าฝืนข้อบังคับให้กลับเป็นถูกต้องตามข้อบังคับได้ การดำเนินการของจำเลยทั้งห้าที่เสนอและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่นายวีรวัฒน์ตามฟ้อง จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์
อุทธรณ์ข้อสี่ว่า จำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๓ เป็นคณะกรรมการพิจารณาการจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจมีเพียงหน้าที่พิจารณาแทนผู้อำนวยการ เมื่อพิจารณาแล้วผู้อำนวยการจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติเป็นอำนาจของผู้อำนวยการ จำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๓ ไม่ได้เป็นตัวการร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ ๔ เป็นเพียงผู้ตรวจสอบหลักฐานเบื้องต้น ไม่มีอำนาจในการอนุมัติ จำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหาย เห็นว่าในกรณีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนินธุรกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ ข้อ ๕ ระบุให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่พนักงานเดินตลาดและบุคคลอื่นในกรณีที่เป็นผู้ติดต่อแนะนำลูกค้ามาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของโจทก์ และข้อ ๗ ระบุให้พนักงานเดินตลาดหรือบุคคลอื่นนำหลักฐานขอซื้อผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ซึ่งตนเป็นผู้ติดต่อแนะนำนั้นเสนอต่อแผนกขายเพื่อพิจารณาตรวจสอบจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกขายได้ทำบันทึกข้อความเสนอเรื่องให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจโดยไม่มีผู้มาขอรับ และจำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจ ก็พิจารณาเสนอให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจได้ โดยที่จำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๔ ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานให้ได้ความชัดเจนก่อนว่า การจำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่ละครั้งตามฟ้องนั้น ได้มีผู้มาติดต่อแนะนำลูกค้ามาซื้อจริงหรือไม่ และนายวีรวัฒน์ ธิดารัตนกุล มีสิทธิรับเงินค่าดำเนินธุรกิจจริงหรือไม่ โดยเฉพาะนายวีรวัฒน์ก็ไม่เคยทำเรื่องเป็นหลักฐานขอรับเงินค่าดำนเนินธุรกิจเลย และตามหลักฐานการขออนุมัติเบิกเงินค่าดำเนินธุรกิจตามเอกสารหมาย จ.๓๘, จ.๔๐, และ จ.๔๑ ก็ระบุให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้แก่ กอ.รมน. และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. และตามเอกสารหมาย จ.๔๔, จ.๔๗, จ.๔๘, จ.๕๐ ก. และ จ.๕๓ ก็ระบุให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้ผู้ดำเนินการติดต่อโดยไม่ได้ระบุชื่อผู้มีสิทธิรับเงิน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๕ ซึ่งรักษาการผู้อำนวยการ โจทก์สั่งอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจให้ไป และการสั่งอนุมัติให้จ่ายเงินค่าดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ ๕ ก็สั่งอนุมัติไปด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัด และไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์เช่นเดียวกัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ยังไม่ได้ตั้งกรรมการสอบสวนความรับผิดชอบทางแพ่งสำหรับจำเลยที่ ๕ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๕ นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ ๕ มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.