แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,340 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 3 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางคนละ 1 ปี ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก และมาตรา 391 การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309วรรคแรก ให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปรับการฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนดคนละ 1 เดือน กรณีเป็นการแก้เฉพาะบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาการฝึกและอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตามกฎหมาย จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินคนละห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองถือได้แล้วว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสอง โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์และยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ อันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ และเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนาทุจริต เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่ฟังว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาทุจริตไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองนี้กับพวกอีก8 คน ที่หลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้องได้สมคบร่วมกันปล้นทรัพย์เอาเสื้อช๊อบจำนวน 2 ตัว ราคาตัวละ 190 บาท รวมราคา 380 บาท ของนายนิรันดร์ ทรงกำพลพันธ์ ผู้เสียหายที่ 1จำนวน 1 ตัว และนายไพรัตน์ อ่ำตระกูล ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 1 ตัว ที่สวมใส่อยู่ไปโดยทุจริต โดยจำเลยทั้งสองกับพวกได้สมคบร่วมกันพูดจาขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย และใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการตบหน้าผู้เสียหายทั้งสอง คนละ 1 ครั้ง ได้รับบาดเจ็บแต่ไม่เป็นอันตรายแก่กาย ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์การพาทรัพย์นั้นไป เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น เพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เหตุเกิดที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ จำนวน 190 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 นับโทษหรือระยะเวลาฝึกและอบรมของจำเลยที่ 1 ต่อจากระยะเวลาฝึกและอบรมในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5286/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 340 (ที่ถูกมาตรา 340 วรรคหนึ่ง) เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติสติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิดประกอบกับรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางแล้ว ปรากฏว่าขณะกระทำผิดจำเลยทั้งสองมีอายุ 16 ปีเศษ จึงลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 (ที่ถูกมาตรา 75)จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี แต่เห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดเพราะความเยาว์วัยหากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันพิพากษา ให้นับเวลาฝึกและอบรมสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5286/2542 ของศาลชั้นต้นสำหรับคำขอให้คืนทรัพย์นั้น ปรากฏทางนำสืบผู้เสียหายที่ 1 ได้รับคืนไปแล้ว จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษโดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอนุญาตให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 122
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก และมาตรา 391 การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรกอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74(5) ให้ส่งจำเลยทั้งสองไปรับการฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนดคนละ 1 เดือน ส่วนจำเลยที่ 1 ให้นับระยะเวลาฝึกอบรมจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5286/2542 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 3 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางคนละ 1 ปี ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309วรรคแรก และมาตรา 391 การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปรับการฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนดคนละ 1 เดือนกรณีเป็นการแก้เฉพาะบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาการฝึกและอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตามกฎหมาย เนื่องจากการที่ศาลชั้นต้นเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปรับการฝึกและอบรมมีกำหนดคนละ 1 ปี และศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปรับการฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง มีกำหนดคนละ 1 เดือน มิใช่การลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินคนละห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124 ที่โจทก์ฎีกาว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองถือได้แล้วว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสอง โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์และยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ อันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ และเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนาทุจริตนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่ฟังว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์