คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่าการทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา ต้องกระทำเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นธนบัตรที่แท้จริง แต่คำว่าคล้ายคลึง แสดงว่าเกือบเหมือนหรือไม่ต้องเหมือนทีเดียว เพียงแต่มีลักษณะสีสันรูปร่างและขนาดคล้ายเงินตราที่แท้จริงก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่สำเนาธนบัตรที่จำเลยทำขึ้นว่าเกิดจากการถ่ายสำเนาธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ของจริงลงในกระดาษธรรมดา สีสันในส่วนสำเนาธนบัตรเป็นสีขาว มิได้มีสีสันเหมือนธนบัตรฉบับจริง แม้ว่าขนาดของกระดาษจะเท่าของจริง เมื่อวิญญูชนทั่วไปดูแล้วย่อมทราบได้ทันทีว่าไม่ใช่ธนบัตรที่แท้จริง ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าว เชื้อชาติแคเมอรูน สัญชาติแคเมอรูน เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2542 และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2542 เมื่อถึงวันที่การอนุญาตสิ้นสุดลงจำเลยที่ 1 ได้บังอาจอยู่ในราชอาณาจักรไทยตลอดมา อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงและเขตใดไม่ปรากฏชัด กรุงเทพมหานคร และตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ต่อเนื่องกัน เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2542 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนต่างด้าว เชื้อชาติแคเมอรูน สัญชาติแคเมอรูน ได้ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรไทยทางชายแดนประเทศมาเลเซียที่ตำบลใด อำเภอใดไม่ปรากฏชัด จังหวัดสงขลา ซึ่งมิใช่ช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกำหนดและโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่ผ่านการตรวจอนุญาตจากเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลใด อำเภอใดไม่ปรากฏชัด จังหวัดสงขลา ภายหลังที่จำเลยที่ 2 ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจำเลยที่ 2 อยู่ในราชอาณาจักรไทยในท้องที่ต่าง ๆ หลายจังหวัดตลอดมา โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองและด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเมื่อระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2542 เวลากลางวัน เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราเพื่อให้เป็นธนบัตรรัฐบาลไทยชนิดฉบับราคา 1,000 บาท ซึ่งรัฐบาลออกใช้รวมจำนวน 1,000 ฉบับ ให้มีลักษณะและขนาดเดียวกับธนบัตรรัฐบาลไทยที่ออกใช้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 240, 249 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 18, 41, 62, 81 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 กรณีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี ฐานอยู่ในราชอาณาจักรไทยเมื่อการอนุญาตสิ้นสุด จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี 2 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามฐานทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตราและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายกับธนบัตรหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงว่า สำเนาธนบัตรตามเอกสารหมาย จ.1 เห็นได้ชัดว่าเกิดจากการถ่ายสำเนาธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ของจริงลงในกระดาษธรรมดาแล้วตัดกระดาษให้มีขนาดเท่าของจริง สีสันปรากฎออกมาจึงแตกต่างกับของจริงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าขนาดของกระดาษและรูปลวดลายที่ปรากฏออกมาจากการถ่ายสำเนาจะเท่าของจริงก็ตาม แต่เมื่อรวบความกับสีสันที่ปรากฏออกมาแล้วบุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ทันทีว่าเกิดจากการถ่ายเอกสาร แตกต่างกับของจริงโดยชัดเจนและไม่น่าจะทำให้บุคคลหลงเข้าใจผิดได้ว่าเป็นของจริง อีกทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายเกื้อกูลพยานโจทก์ได้หลงเข้าใจผิดว่าสำเนาธนบัตรเอกสารหมาย จ.1 เป็นของจริงแต่อย่างใด ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 บัญญัติไว้แต่เพียงว่าผู้ใดทำบัตรหรือโลหธาตุอย่างใด ๆ ให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา ฯลฯ โดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อบัญญัติถึงเจตนาพิเศษว่า การทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตราจะต้องเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นธนบัตรที่แท้จริงแต่อย่างใด ที่จำเลยทั้งสามมีเจตนาทำธนบัตรโดยการถ่ายสำเนาธนบัตรแล้วตัดกระดาษให้มีขนาดเท่าของจริง แม้จะมีสีสันแตกต่างก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว เพราะคำว่าคล้ายแสดงถึงไม่เหมือนทีเดียวนั้น เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 จะมิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า การทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา จะต้องกระทำเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นธนบัตรที่แท้จริง แต่คำว่าคล้ายคลึง แสดงว่าเกือบเหมือนหรือไม่ต้องเหมือนทีเดียว เพียงแต่มีลักษณะสีสันรูปร่างและขนาดคล้ายเงินตราที่แท้จริงก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ เมื่อสำเนาธนบัตรตามเอกสารหมาย จ.1 เห็นได้ชัดเจนว่าเกิดจากการถ่ายสำเนาธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ของจริงลงในกระดาษธรรมดา สีสันในส่วนสำเนาธนบัตรก็เป็นเพียงสีขาว มิได้มีสีสันเหมือนธนบัตรฉบับจริง แม้ว่าขนาดของกระดาษจะเท่าของจริงเมื่อวิญญูชนทั่วไปดูแล้วย่อมทราบได้ทันทีว่าไม่ใช่ธนบัตรที่แท้จริงกรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share