แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 จะเป็นการฟ้องตามสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งซึ่งมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญของสัญญา ทำให้จำเลยที่ 1 หลงต่อสู้ไม่สามารถโต้แย้งในเรื่องราคาทรัพย์ที่เช่ากับค่าเช่าที่แท้จริงได้ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากัน ในสัญญาระบุว่าผู้ให้เช่าตกลงจะซื้อและหรือได้ซื้อทรัพย์สินตามคำขอร้องของผู้เช่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ผู้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวตามกำหนดเวลาและตามข้อกำหนดเงื่อนไข โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันตามที่ระบุในสัญญาเช่า เมื่อคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่เช่าเปรียบเทียบกับคำเสนอขอเช่าแบบลิสซิ่งมียอดค่าเช่าตรงกัน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันด้วยความสมัครใจ เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อพิจารณาถึงสัญญาเช่าแล้วมีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เช่าเรื่องการส่งมอบ ความชำรุดบกพร่อง การสูญหาย หรือความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดนัด การสิ้นสุดสัญญาเช่า เงื่อนไขดังกล่าวล้วนเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ถึงมาตรา 571 ข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่า และให้ถือเอาค่าเช่าที่ชำระเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เช่า สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์แบบหนึ่งไม่ใช่สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 38,757,877.76 บาท พร้อมเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน 30,075,127.45 บาท และค่าติดตามทวงถามในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของค่าเช่าที่ค้างชำระนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าขาดประโยชน์อัตราเดือนละ 1,813,708.85 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนโจทก์กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบเครื่องทำเกลียวจำนวน 37 เครื่อง ตามฟ้องคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 46,272,196.26 บาท
จำเลยทั้งสี่ให้การในทำนองเดียวกันและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายภัทรสิน ผู้ร้อง ยื่นคำร้องว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้อง ผู้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 38,757,877.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ในค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน 30,075,127.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ 1,813,708.85 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสี่จะส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบเครื่องทำเกลียวจำนวน 37 เครื่อง คืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 46,272,196.26 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 23,183,549.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบเครื่องจักรที่เช่าไป 37 เครื่อง คืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 20,414,010 บาท กับให้ร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เดือนละ 1,695,055 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะส่งมอบเครื่องจักรที่เช่า 37 เครื่อง คืนโจทก์หรือชดใช้ราคา แต่ค่าเสียหายดังกล่าวกำหนดให้ไม่เกิน 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายและผลิตชิ้นส่วนวัสดุอุปกรณ์และอะไหล่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 จำเลยที่ 1 ทำคำเสนอขอเช่าแบบลิสซิ่งโดยการขายให้แล้วเช่าใช้เครื่องทำเกลียว 37 เครื่อง สภาพใช้แล้ว เสนอเงื่อนไขในการชำระค่าเช่า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ราคาทรัพย์ที่ขอเช่ารวมอุปกรณ์ 73,350,000 บาท ค่าเช่าเริ่มต้นสัญญา 22,080,000 บาท ยอดคงเหลือใช้คำนวณค่าเช่า 51,270,000 บาท ยอดเงินค่าเช่ารวม 61,021,980 บาท ค่าเช่าชำระเป็นรายเดือนทั้งหมด 36 เดือนเท่าๆ กัน เดือนละ 1,695,055 บาท ค่าเช่าเดือนแรกชำระวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 วันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่า และตารางต่อท้ายสัญญาเช่าระบุรายการทรัพย์สินที่เช่าเป็นเครื่องทำเกลียวเก่ารวม 37 เครื่อง ค่าเช่าเดือนที่ 1 ถึง 36 เดือนละ 1,695,055 บาท คิดเป็นค่าเช่าทรัพย์สินที่เช่า 61,021,980 บาท ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาเช่าวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ตามคำเสนอขอเช่าแบบลิสซิ่งโดยการขายให้แล้วเช่าใช้สัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์สินที่เช่าไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2551 และได้ชำระค่าเช่าเริ่มต้นสัญญาให้โจทก์จำนวน 22,080,000 บาท และวางเงินประกันการเช่าให้โจทก์จำนวน 1,695,055 บาท กับชำระค่าเช่างวดที่ 1 ให้โจทก์แล้ว นอกจากนี้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (สาขาสะพานใหม่) ลงวันที่ล่วงหน้าจำนวน 34 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่างวดที่ 2 ถึง 35 ให้แก่โจทก์ การทำสัญญาดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏตามหนังสือส่งมอบเช็คชำระค่าเช่าลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 สัญญาค้ำประกัน
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระเงินว่า จำเลยที่ 1 ชำระวันที่เท่าใดบ้าง จำนวนเงินเท่าใด และจำนวนเงินที่ชำระดังกล่าวโจทก์นำไปหักชำระค่าเช่าส่วนใดงวดใดบ้าง ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อกล่าวหาของโจทก์ได้ แต่ในชั้นฎีกา จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 จะเป็นการฟ้อง ตามสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง ซึ่งมีความแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญของสัญญา สัญญาดังกล่าวโจทก์เป็นผู้กำหนดเนื้อหาในสัญญาเป็นสัญญาแบบสำเร็จรูป โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าทำให้จำเลยที่ 1 หลงต่อสู้ไม่สามารถที่จะโต้แย้งในเรื่องราคาทรัพย์ที่เช่ากับค่าเช่าที่แท้จริงกับโจทก์ได้ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่า ข้อตกลงตามสัญญาเช่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาโดยในสัญญาเรียกโจทก์ว่าผู้ให้เช่าฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้เช่า ในสัญญาระบุว่าผู้ให้เช่าตกลงจะซื้อและหรือได้ซื้อทรัพย์สินตามคำขอร้องของผู้เช่า เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ผู้เช่า เช่าทรัพย์สินดังกล่าวตามกำหนดเวลาและข้อกำหนดเงื่อนไขโดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสัญญากันตามที่ระบุในสัญญาเช่าซึ่งตามตารางต่อท้ายสัญญาเช่ารายการที่ 7 ระบุค่าเช่าเดือนที่ 1 ถึงที่ 36 เดือนละ 1,695,055 บาท คิดเป็นค่าเช่าทรัพย์สินที่เช่า 61,021,980 บาท เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับคำเสนอขอเช่าแบบลิสซิ่งระบุจำเลยที่ 1 เสนอเงื่อนไขในการชำระค่าเช่าดังนี้ ยอดเงินค่าเช่ารวม 61,021,980 บาท ตรงกับที่ระบุไว้ตามตารางต่อท้ายสัญญาเช่า จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันด้วยความสมัครใจ และมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวใช้บังคับได้ คู่สัญญาจึงต้องผูกพันตามสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ข้อตกลงตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว มิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต่อไปว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า สัญญาเช่าดังกล่าวมีข้อตกลงที่เข้าลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ดังต่อไปนี้ ข้อ 1. มีกำหนดทรัพย์สินที่เช่าไว้ในตารางต่อท้ายสัญญาเช่า เอกสารแนบท้ายสัญญาเช่า ใบรับทรัพย์สินที่เช่า เอกสารแนบท้ายใบรับทรัพย์สินของสัญญาเช่า ข้อ 2. มีกำหนดเวลาเช่า ข้อ 3. มีการกำหนดค่าเช่าที่จะต้องชำระเป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนที่ 1 ถึงเดือนที่ 36 เดือนละ 1,695,055 บาท คิดเป็นค่าเช่าทรัพย์สินที่เช่า 61,021,980 บาท ตามตารางท้ายสัญญาเช่าข้อ 7. ข้อ 4. มีกำหนดในเรื่องการต่ออายุสัญญาเช่า ส่วนข้อ 5 ถึงข้อ 25 เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เช่าในเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่า ความชำรุดบกพร่อง การดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพย์สินที่เช่า การห้ามโอนและละเมิดกรรมสิทธิ์ การสูญหายและความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดนัด เบี้ยปรับ การสิ้นสุดระยะเวลาเช่า การส่งมอบคืนทรัพย์สินที่เช่า ข้อกำหนดและเงื่อนไขดังกล่าวล้วนเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่าทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 ถึงมาตรา 571 ตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อกำหนดตอนใดที่แสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่าและให้ถือเอาค่าเช่าที่ชำระเป็นส่วนหนึ่งของราคาทรัพย์ที่เช่า สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์แบบหนึ่ง หาใช่สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ