แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ตะเคียนหินที่แปรรูปแล้ว จำนวน 20 แผ่น รวมปริมาตร 0.36 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งสอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายโดยมิได้ระบุวันที่หรือเวลาที่กระทำความผิด เป็นการบรรยายฟ้องไม่ชัดเจน ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดเมื่อวันที่ เดือน ปีใด จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 47, 48, 73, 74, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบไม้ของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48, 73 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 5,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 2,500 บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสองแล้วได้ความว่า จำเลยที่ 1 เคยมีประวัติกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาก่อนจนศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุกมาแล้ว มากระทำความผิดอีก แสดงว่า จำเลยที่ 1 ไม่เข็ดหลาบและกระทำความผิดเป็นนิสัย กรณีไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้ (ที่ถูกเนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่อาจรอการลงโทษได้) ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ไม่พบประวัติการกระทำความผิด ทั้งนิสัยและความประพฤติโดยทั่วไปของจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีข้อเสียหายร้ายแรง เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง และให้จำเลยที่ 2 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบไม้ของกลาง จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ตะเคียนหินที่แปรรูปแล้ว จำนวน 20 แผ่น รวมปริมาตร 0.36 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งสอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย โดยมิได้ระบุวันที่หรือเวลาที่กระทำความผิด เป็นการบรรยายฟ้องไม่ชัดเจน ไม่อาจทราบได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดเมื่อวันที่ เดือน ปีใด แม้ในชั้นพิจารณาตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 30 สิงหาคม 2547 จำเลยทั้งสองยอมรับว่านายวัฒนา หีบสระน้อยพยานอันดับที่ 7 ตามบัญชีระบุพยานลงวันที่ 16 สิงหาคม 2547 เป็นผู้ตรวจสอบไม้ของกลางและทำบันทึกการตรวจสอบรับมอบไม้ของกลางไว้ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1 นายณรงค์ จวงตะขบ พยานอันดับที่ 8 ได้ให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนตามบักทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.2 และพันตำรวจโทสมร ทองกลาง พยานอันดับที่ 9 ตามบัญชีระบุพยานดังกล่าวเป็นผู้สอบปากคำจำเลยทั้งสองไว้ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 โดยโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานเหล่านั้น และอ้างส่งเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ต่อศาลก็ตาม แต่เอกสารทั้งสี่ฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดวันเวลาใด ทั้งบันทึกการตรวจสอบรับมอบไม้ของกลางตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 ที่ว่า ได้ทำบันทึกในวันที่ 5 กันยายน 2546 นั้น มิได้ระบุว่า วันตรวจสอบรับมอบไม้ของกลางเป็นวันเดียวกับวันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดหรือไม่ ส่วนแผ่นที่ 2 ของเอกสารดังกล่าวที่ระบุว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ อีกทั้งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 คงเป็นเพียงการสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 ซึ่งไม่มีข้อความที่อ้างถึงวัน เดือน ปีที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดแต่อย่างใด นอกจากนี้ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจังหวัดนครราชสีมา ที่จำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านรายงานดังกล่าว ก็มิได้มีการระบุถึงวันเวลาที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเช่นกัน ดังนั้น โจทก์จะถือเอาเอกสารเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องหาได้ไม่ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน