คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าอาคารราชพัสดุและชำระค่าภาษีแทนกรมธนารักษ์ตามสัญญาเช่าที่กรมธนารักษ์ทำกับโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้รับการประเมินย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใด ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่โจทก์มีภาระหนี้ภาษีเพิ่มขึ้นจากการกระทำของจำเลยทั้งสองจำนวน 91,350 บาท พร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ยที่โจทก์มีภาระเพิ่มขึ้น กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 5 กำหนดคำนิยามคำว่า “ผู้รับประเมิน” หมายความว่า บุคคลผู้พึงชำระค่าภาษี และมาตรา 40 วางหลักไว้ว่า ค่าภาษีนั้นให้เจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้เสีย เจ้าของทรัพย์สินจึงเป็นผู้รับประเมินที่ต้องรับภาระภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยตรงเพียงฝ่ายเดียว ตามคำฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดว่า กรมธนารักษ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินอาคารราชพัสดุที่ถูกประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน และยอมรับว่าตนมิใช่ผู้รับประเมิน รับฟังได้ว่า กรมธนารักษ์เป็นผู้รับประเมินตามกฎหมาย โจทก์มิใช่เป็นผู้มีหน้าที่ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแต่อย่างใด การที่โจทก์ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามข้อ 5 แห่งสัญญาเช่าอาคารราชพัสดุ ก็เป็นเพียงการชำระค่าภาษีแทนกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นผู้รับประเมินตามกฎหมายเท่านั้น และหากกรมธนารักษ์ในฐานะผู้รับประเมินไม่พอใจในการประเมินก็จะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ด้วยตนเองหรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 25 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์กลับไม่ปรากฏว่ากรมธนารักษ์ได้มอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ กรณีย่อมต้องถือว่าจำนวนค่ารายปีและค่าภาษียุติตามการประเมินแล้ว และกรมธนารักษ์มิได้มีการคัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรนั้นบัญญัติไว้ อันจะทำให้กรมธนารักษ์มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรได้ตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 กรมธนารักษ์ในฐานะผู้รับประเมินมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ กรมธนารักษ์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าอาคารราชพัสดุและชำระค่าภาษีแทนกรมธนารักษ์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกฟ้องโจทก์โดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ เป็นการไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใด ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share